พาณิชย์ ย้ำ ราคาน้ำมันปาล์มขวด ลดลงอีก 3-4 บาท สัปดาห์นี้
กระทรวงพาณิชย์ ย้ำ ราคาน้ำมันปาล์มขวด สัปดาห์นี้ ปรับลดลงอีก 3-4 บาท ส่วน ราคาเนื้อไก่ เนื้อหมู จะปรับลดตามมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ยันะรักษาระดับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม ไว้ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม แม้ต้นทุนการเลี้ยงยังคงสูง
เฟซบุ๊กแฟนเพจ รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกรัฐบาล ออกมาย้ำเตือน ราคาน้ำมันปาล์มที่จะปรับราคาขวด ลดลงในสัปดาห์นี้อีกครั้ง วันนี้ (18 ก.ค.65) โดยระบุข้อความผ่านช่องทางโซเชียลดังกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ย้ำ ราคาน้ำมันปาล์มขวดจะลดลงอีก 3-4 บาทในสัปดาห์นี้ ส่วนไก่-หมูจะปรับลดราคาตามมา
ก่อนเริ่มประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานเร่งรัดการลดราคาน้ำมันปาล์มขวดเพื่อให้สอดคล้องกับราคาต้นทุนผลิต ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้วราคาขายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้ปรับลดลงมา 5-6 บาท และในภายในสัปดาห์นี้ ทางกรมการค้าภายในได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการว่าราคาจะลดลงอีก 3-4 บาทอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการเข้าดูแลค่าครองชีพประชาชน กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมขับเคลื่อนอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการจัดจำหน่าย ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งปรับสูงขึ้นอย่างมาก แต่สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันยังสามารถตรึงราคาไว้ได้หรือแม้มีการปรับขึ้นก็อยู่ในวงจำกัด
สำหรับไก่สด คาดว่าเร็วๆ นี้ราคาจะปรับลดลง หลังจากที่ได้หารือกับโรงชำแหละรายใหญ่ ซี่งพร้อมให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ช่วงก่อนหน้าที่ราคาไก่สดปรับสูงขึ้นเนื่องจากส่วนประกอบของอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่ราคาเนื้อหมูก็จะปรับลดลงเช่นเดียวกัน โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ยืนยันให้ความร่วมมือกับกระทรวง ที่จะรักษาระดับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม ไว้ที่100 บาทต่อกิโลกรัม แม้ต้นทุนการเลี้ยงยังคงสูง
นอกจากนี้ นายจุรินทร์ได้สั่งการเรื่องควบคุมดูแลราคาสินค้า ซึ่งสินค้าบางตัวจะเป็นการดำเนินการในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพราะต้นทุนสินค้าหากนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูงขึ้น ก็อาจมีการปรับขึ้นบ้างหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสินค้าหลายตัวผู้ประกอบการ และผู้จัดจำหน่าย ได้ให้ความร่วมมือด้วยการตรึงราคาสินค้าไว้ โดยกระทรวงพาณิชย์มีการใช้นโยบายวิน-วินโมเดล คือต้องดูปริมาณสินค้าให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสินค้าขาดแคลนอาจเป็นปัญหาต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าต่อไปได้ และผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป