เปิดประวัติ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี 2 สมัย ดำรงตำแหน่งนานสุดกี่ปี เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญกับการเมืองไทยอย่างไรบ้าง
เนื่องในวันที่ 14 กรกฎาคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครบรอบ 125 ปี นายกรัฐมนตรี คนที่ 4 ของประเทศไทย และเป็นผู้ครองสถิตินายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดของไทยอีกด้วย โดย The Thaiger จะขอพาส่องประวัติของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จักกับนายกฯ ผู้มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทยคนนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิมกัน
14 กรกฎาคม วันคล้ายวันเกิด จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ คนสำคัญของเมืองไทย
| ประวัติ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม คือใคร
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม, ป. พิบูลสงคราม หรือ หลวงพิบูลสงคราม มีนามเดิมว่า แปลก ขีตตะสังคะ เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เสียชีวิตเมื่อ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 มีอายุรวม 66 ปี จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นทั้งนายทหารและนักการเมืองที่สำคัญของชาวไทย ทั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งนานที่สุดของไทย
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 4 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งครั้งแรกในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 จนถึง 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 จนสิ้นสุดตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 รวมทั้งสิ้น 14 ปี 11 เดือน
จอมพลแปลก แต่งงานกับท่านละเอียด พิบูลสงคราม ในขณะนั้นมีนามว่า สกุล พันธ์กระวี เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2459 มีบุตรธิดาจำนวน 6 คน ได้แก่ พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม, พลเรือโท ประสงค์ พิบูลสงคราม, ร้อยเอกหญิง จีรวัสส์ ปันยารชุน, รัชนิบูล ปราณี ประชาชน, พัชรบูล เบลซ์ และนิตย์ พิบูลสงคราม
| จอมพล ป. กับบทบาททางการเมือง
จอมพล แปลก มีบทบาททางการเมืองไทยตั้งแต่ครั้งที่มีการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยรับหน้าที่เป็นหัวหน้าสมาชิกคณะราษฎร นอกจากนี้ยังสามารถปราบกบฏบวชเดชในปี พ.ศ. 2476 ได้หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้บังคับบัญชาทหารฝ่ายรัฐบาล
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้เริ่มแสดงความเผด็จการขึ้นมาหลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2481 จึงทำให้เกิดความขัดแย้งภายในกับคณะราษฎรสายพลเรือน โดยเขาได้ประกาศรัฐนิยมหลายข้อในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” การยกเลิกประเพณีเก่า ๆ ของไทยแล้วรับวัฒนธรรมตะวันตกที่ทันสมัยกว่ามาสู่ประเทศ จอมพล ป. เป็นผู้เริ่มดำเนินนโยบายการเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น แต่สุดท้ายหลังพ่ายแพ้ให้กับเสียงในสภาเรื่องการร่างกฎหมายสำคัญ รวมถึงการแพ้สงครามโลกของญี่ปุ่น ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2487
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการรัฐประหารปี 2490 โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้นำเหตุการณ์ทางการเมืองสามเส้าในช่วงเวลานั้น ซึ่งมีผู้นำคนอื่นคือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพลแปลกได้เข้าร่วมกับประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นแบบประชาธิปไตยแบบเน้นการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเขาก็ได้พ่ายแพ้ให้กับกลุ่มกษัตริย์นิยมจนหลุดพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2500 ซึ่งนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. จึงลี้ภัยไปยังประเทศญี่ปุ่น และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิต
| รัฐนิยมของ จอมพล ป. คืออะไร มีอะไรบ้าง
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ได้มีนโยบายในการสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นลัทธิชาตินิยม เช่น คำขวัญ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ” จอมพล ป. จึงได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย เพื่อให้ความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เรียกว่า รัฐนิยม มีจำนวนทั้งหมด 12 ฉบับ ดังนี้
รัฐนิยม ฉบับที่ 1
ประกาศเรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 โดยในวันที่ 28 กันยายน มีคำสั่งให้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” กลายเป็น “ไทย” เพื่อให้สอดคล้องกับที่เรียกประชาชนว่า คนไทย ชื่อประเทศก็ควรที่จะเรียกว่า ประเทศไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 2
ประกาศห้ามไม่ให้คนไทยเป็นตัวแทนของชาวต่างชาติ และห้ามขายที่ดินให้ชาวต่างชาติโดยเด็ดขาด
รัฐนิยม ฉบับที่ 3
ประกาศเรื่องการเรียกชื่อชาวไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 4
ประกาศเรื่องการเคารพธงชาติ การร้องเพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี
รัฐนิยม ฉบับที่ 5
ประกาศเรื่องให้ประชาชนชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภค บริโภคที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 6
ประกาศเรื่องทำนอง และเนื้อร้องเพลงชาติของไทย
รัฐนิยม ฉบับที่ 7
ประกาศเรื่องเชิญชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ
รัฐนิยม ฉบับที่ 8
ประกาศเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี
รัฐนิยม ฉบับที่ 9
ประกาศเรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี ซึ่งกำหนดไว้ว่าชนชาติไทยคือ พลเมืองดีที่ต้องศึกษาให้รู้หนังสือไทยที่เป็นภาษาของชาติ โดยอย่างน้อยต้องอ่านออก เขียนได้ และถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่จะให้การช่วยเหลือแก่พลเมืองที่ยังไม่รู้ภาษาไทยให้เขาอ่านออก เขียนได้ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างของท้องถิ่นภูมิลำเนาที่กำเนิด
รัฐนิยม ฉบับที่ 10
ประกาศเรื่องการแต่งกายของชาวไทย โดยกำหนดให้คนไทยต้องแต่งกายตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าเป็นสุภาพชน
รัฐนิยม ฉบับที่ 11
ประกาศเรื่องกิจประจำวันของคนไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2484 กำหนดไว้ว่าชนชาติไทยต้องบริโภคอาหารให้ตรงเวลา วันละไม่เกิน 4 มื้อ และนอนให้ได้ 6 – 8 ชั่วโมง ต้องมุ่งมั่นในการทำงาน พักกลางไว้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง มีเวลาในการทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ชำระร่างกายแล้วจึงจะรับประทานอาหารว่าง ในช่วงกลางคืนก็ใช้เวลาในการสนทนาภายในครอบครัว มิตรสหาย ส่วนในวันหยุดก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ
รัฐนิยม ฉบับที่ 12
ประกาศเรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2485
ทั้งหมดนี้ก็เป็นประวัติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ที่ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยนานที่สุดเป็นระยะเวลา 14 ปี 11 เดือน โดยในวันที่ 14 กรกฎาคม ก็เป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านอดีตนายกฯ ผู้เปลี่ยนชื่อสยามให้กลายเป็นไทย และมีบทบาทสำคัญทางการเมืองเป็นอย่างมาก ทีมงานจึงขอร่วมรำลึกถึงบุคคลสำคัญของไทยท่านนี้ด้วย
- ประวัติ ‘สะพานพิบูลสงคราม’ จากนามของ ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’
- เปิดประวัติ ‘ศิลปินภูไท’ คณะหมอลำร่วมสมัยชื่อดังแห่งภาคอีสาน
- ประวัติ อานุภาพ ธารทอง ส.ก.เขตสาทร ผู้เร่งทวงหนี้รถไฟฟ้า