ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

ชวนชมดวงจัทร์ ‘Super Full Moon’ ในวันอาสาฬหบูชา 13 ก.ค. 65 นี้

NARIT ขอเชิญ ชมดวงจันทร์ Super Full Moon วันอาสาฬหบูชา 13 กรกฎาคม 2565 นี้ ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี รับชมฟรีได้ทุกที่ทั่วท้องฟ้าประเทศไทย พลาดไม่ได้เด็ดขาด!

13 กรกฎาคม 2565 วันอาสาฬหบูชาปีนี้ นอกจากจะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังเป็นวันที่มีปรากฏการณ์น่าอัศจรรย์ทางธรรมชาติเกิดขึ้นอีกด้วย นั่นก็คือเหตุการณ์ “ดวงจัทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon) โดยทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้ออกมาโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนร่วมจับตาดูเหตุการณ์ซูเปอร์ฟูลมูน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

วันอาสาฬหบูชา ชมดวงจันทร์

13 ก.ค. นี้ ชวนจับตา #ซูเปอร์ฟูลมูน หรือ #ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในคืนอาสาฬหบูชา

ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร เวลาประมาณ 16:09 น. และจะปรากฏเต็มดวงในคืนดังกล่าวในช่วงหลังเที่ยงคืน เวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เกิดเป็นปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16%

วันอาสาฬหบูชา ชมดวงจันทร์
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 วันอาสาฬหบูชา จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงเป็นอย่างยิ่ง ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่ และสว่างกว่าปกติเล็กน้อย วันดังกล่าวดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.37 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับผู้ที่สนใจถ่ายภาพ คืนดังกล่าวยังเหมาะแก่การถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยเฉพาะการถ่ายภาพด้วยเทคนิค “Moon illusion” ด้วยเลนส์เทเลโฟโต เป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า ทำให้เกิดภาพลวงตาเสมือนว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่และอยู่ใกล้โลกมาก ผู้สนใจสามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า

ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

วันอาสาฬหบูชา ชมดวงจันทร์
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ชวนดูดาวชมจันทร์ในคืนวันอาสาฬหบูชา 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.สงขลา

ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. ฟรี ! ไม่มีค่าใช้จ่าย

Super Full Moon
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่ https://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2022

พิเศษสุด ๆ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ ชมดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีเคล้าเสียงดนตรีในสวน ฟัง Special Talk “เรื่องมหัศจรรย์ดวงจันทร์ของโลก” และชวนแต่งกายธีมญี่ปุ่นถ่ายภาพคู่กับ #อภิมหาดวงจันทร์ยักษ์ เฉลิมฉลองดวงจันทร์เต็มดวง และเทศกาลทานาบาตะ ในเดือนกรกฎาคม

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมงานลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/NARIT-SuperFullMoon2022 รับของที่ระลึก “แม่เหล็กดวงจันทร์” จำนวนจำกัด สามารถร่วมกิจกรรมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และอย่าลืมมาชมจันทร์เต็มดวงในคืนวันที่ 13 ก.ค. 65 วันอาสาฬหบูชากันด้วยนะ

วันอาสาฬหบูชา ชมดวงจันทร์

ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)


Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button