ปภ. ยัน ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ไม่ทำงาน ไม่กระทบการแจ้งเตือนภัย
ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ไม่ทำงาน ปภ. ยันชัด ไม่กระทบการแจ้งเตือนภัยสึนามิ วางแผนติดตั้งทุ่นทดแทนของเดิมที่หลุดในเดือนพฤศจิกายน 2565
กรณี ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ในทะเลอันดามัน ไม่ทำงาน จนเมื่อหลายคนทราบข่าวแล้วเกิดความกังวล หากเกิดสึนามิขึ้นจะทำอย่างไรนั้น
ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) ยืนยันเมื่อ วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยแต่อย่างใด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังคงปฏิบัติภารกิจการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสึนามิตามระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operating Procedure : SOP) ด้านการแจ้งเตือนภัยสึนามิฝั่งอันดามัน
โดยนำข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลและการเกิดคลื่นสึนามิในแถบมหาสมุทรอินเดียจากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และแจ้งเตือนการเกิดสึนามิ พร้อมติดตามข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย และสถานีเกาะเมียง จังหวัดพังงา ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถานีเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลและแจ้งเตือนภัยสึนามิแก่ประชาชนตามขั้นตอนที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมอพยพหนีภัยสึนามิได้อย่างทันท่วงที
ขณะที่ นพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าว่า กรณีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิดังกล่าวหลุดออกจารัศมีที่มีการส่งข้อมูลนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบก็สามารถแก้ไขให้กลับมาทำงานและส่งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำได้ตามเดิม
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการทำงานของทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ซึ่งได้ติดตั้งในทะเลอันดามันห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตร พบว่า ทุ่นแสดงสถานะไม่ส่งข้อมูล โดยมีการส่งข้อมูลครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 เวลา 23.00 น. โดยทุ่นได้หลุดลอยออกจากตำแหน่งรัศมีการติดตั้ง จากจุดติดตั้งเดิมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 38 กิโลเมตร (23.6 ไมล์ทะเล) ห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 315 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตามสามารถติดตามตำแหน่งของทุ่นฯ ได้จากระบบ GPS ที่ติดตั้งกับทุ่นฯ โดยระบบจะส่งข้อมูลตำแหน่งทุกๆ 12 ชั่วโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานการเก็บกู้และสาเหตุการหลุดออกจากตำแหน่งติดตั้ง ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้วางแผนกำหนดติดตั้งทุ่นทดแทนของเดิมที่หลุดในเดือนพฤศจิกายน 2565
- สึนามิ ถล่มตองกา หลังภูเขาไฟระเบิดใต้ทะเล
- นายกฯ สั่ง หน่วยงาน พัฒนาระบบเฝ้าระวัง สึนามิของไทย
- เปิดคำทำนาย หมอปลาย เตือนกลางปีจะมี สึนามิ