ทล. – ทช. จับมือชี้แจงเพิ่มเติม กรณี เสาหลักนำทางยางพารา
กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ทำการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมร่วมกันในกรณีปัญหา เสาหลักนำทางยางพารา
เสาหลักนำทางยางพารา – (10 พ.ค. 2565) สืบเนื่องจากกรณีเสาหลักยางพาราที่ปรากฏตามสื่อในพื้นที่จังหวัดน่าน กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ขอชี้แจงรายละเอียดความเป็นมาของโครงการดังนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการตามนโยบายกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดย ทล. และ ทช. ได้จัดทำความต้องการในส่วนของเสาหลักนำทางยางพาราที่จะมาติดตั้งโดยจะนำมาติดตั้งเพื่อทดแทนส่วนที่ชำรุดเสียหายและติดตั้งเพิ่มเติมในส่วนที่มีความจำเป็น
สำหรับโครงการนี้กระทรวงคมนาคมนำผลการศึกษาเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เพื่อเสนอแนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน และได้มีการบูรณาการความร่วมมือทำข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำยางพารามาใช้ในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยที่ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 โดยข้อตกลงได้กำหนดให้นำยางพาราไปใช้ประโยขน์ด้านการจราจรและความปลอดภัยในหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงโดยใช้เสาหลักนําทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post: RGP) โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและระบายผลผลิตยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม
2. เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากคุณสมบัติของวัสดุยางพารามีความยืดหยุ่น
กระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะทำงานระดับกระทรวงเพื่อกำหนดรูปแบบ คุณสมบัติ การควบคุมคุณภาพ และเพื่อกำหนดราคากลาง โดยจากผลการศึกษาของคณะทำงานได้กำหนดรูปแบบเสาหลักยางพาราจะอ้างอิงขนาดต่าง ๆ ตามเสาหลักนำทางคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีใช้อยู่ แต่จะมีลักษณะกลวงด้านใน โดยการผลิตเกษตรกรจะผสมน้ำยางข้นกับสารเคมีตามสัดส่วนจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แล้วเทลงในแบบพิมพ์ จากนั้นจะถอดแบบพิมพ์ออกเพื่อทำการอบตามระยะเวลาและวิธีการตามข้อกำหนด
ทั้งนี้ คณะทำงานยังได้พิจารณาราคากลางจากการสืบราคาสารเคมี และราคาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เพื่อคำนวณตามหลักการการคิดราคางานก่อสร้าง เนื่องจากราคาน้ำยางข้นมีการผันแปรตลอดเวลา คณะทำงานได้มีการสรุปราคาแนะนำ โดยราคาเสาหลักนำทางยางพาราจะแปรผันตามของราคาน้ำยางข้นที่แตกต่างกันไป จากนั้นกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการจัดซื้อเสาหลักนำทางยางพารา โดยดำเนินการตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องครบถ้วน เป็นการซื้อตรงจากสหกรณ์ชาวสวนยางที่ได้รับการรับรอง ตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 และแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) (เรียกกันว่า ว.89) ที่กรมบัญชีกลางประกาศเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 โดยให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐสนับสนุนตามรายละเอียดในกฎกระทรวงได้ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง
สำหรับกรณีราคาเสาหลักนำทางยางพาราตามที่ปรากฏในสื่อเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ทล. โดยแขวงทางหลวงน่านที่ 1 ได้เตรียมการจัดซื้อเสาหลักนำทางยางพารา ตามแนวทางของกฎกระทรวงการคลัง และได้แจ้งสหกรณ์ยางพาราต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับการประกาศว่าเป็นสหกรณ์ที่ได้รับการรับรองให้ผลิตเสาหลักนำทางยางพาราโดยผ่านการตรวจสอบโรงผลิตโดยคณะทำงานร่วมหลายหน่วยงาน เมื่อสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดลำปาง ได้ส่งมอบหลักนำทางที่มีผลการทดสอบผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน แขวงทางหลวงน่านที่ 1 ที่ได้ตรวจรับและนำเสาหลักนำทางยางพารามาติดตั้งในสายทางหลวง โดยการติดตั้งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของแขวงทางหลวงเอง ซึ่งด้วยคุณสมบัติของเสาหลักนำทางยางพาราที่มีความยืดหยุ่นและเป็นลักษณะกลวงตามแบบมาตรฐานเจ้าหน้าที่จึงได้ประยุกต์ใช้วัสดุหลายประเภทเพื่อเป็นแกนกลาง ให้ง่าย และสะดวกในการติดตั้งรวมถึงสามารถติดตั้งได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ ทล. ขอยืนยันว่า เสาหลักนำทางยางพาราที่ติดตั้งแล้วนั้นเป็นไปตามแบบมาตรฐาน และการคิดราคาเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทุกประการ
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวทั่วไปเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวทั่วไป