ทำความรู้จัก “โรคซึมเศร้า” โรคอันตรายที่เรามักจะละเลย บ่อยครั้งที่มีสัญญาณบ่งบอกว่าเราอาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า แต่เราอาจจะคิดว่าตัวเองนั้นคิดมากไปเอง หรือหลาย ๆ คนอาจจะเจอคำพูดจากคนรอบตัวที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา วันนี้ The Thaiger จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าว่า มีสาเหตุ อาการอย่างไร ในกลุ่มผู้ที่เป็นวัยรุ่น ลักษณะอารมณ์ แบบไหนที่เรียกว่าโรคซึมเศร้า แล้วจำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่ หากพบว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะรักษา มีวิธีรักษาอะไรบ้าง และสามารถหายได้ไหม ? ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันได้เลย
โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชที่ต้องรักษา อย่าคิดว่าจิตใจเราอ่อนไหวไปเอง
โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร สาเหตุมาจากไหน
โรคซึมเศร้า หรือ Depression เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของเคมีในสมอง ได้แก่ 1.ซีโรโตนิน (Serotonin) 2.นอร์เอปิเนฟริน (Norepinephrine) และ 3.โดปามีน (Dopamine) โดยสารสื่อประสาททั้ง 3 ชนิดนี้ หากทำงานผิดปกติก็จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม และอาจรวมไปถึงสุขภาพกายด้วย
ส่วนสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้านั้นมาจากพันธุกรรม หรือพื้นฐานครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือเป็นคนที่มีลักษณะอารมณ์อ่อนไหวง่าย คิดมาก หรือสภาพแวดล้อมการถูกเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก ๆ และอาจมาจากสารเคมีในสมองขาดความสมดุลด้วยก็เป็นได้
โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร แบบไหนเรียกว่าเข้าข่าย
เราสามารถตรวจสอบอาการซึมเศร้าของตัวเองหรือคนใกล้ชิดได้ โดยสังเกตจากอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าหากว่ามีอาการอย่างน้อย 5 แบบขึ้นไป และเป็นติดต่อกันนานกว่า 14 วัน โดยที่มีอาการทั้งวันหรือเกือบจะทั้งวัน ก็ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งอาการดังกล่าวได้แก่
- มีอารมณ์ซึมเศร้า หรือหงุดหงิด ก้าวร้าว (ในวัยรุ่นมักพบว่ามีอาการโกรธง่าย)
- มีอาการเบื่อ ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่ทำ
- มีอาการนอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับมากเกินกว่าปกติ
- เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงทำอะไร
- มีอาการเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไร หรืออาจกินมากเกินกว่าปกติ
- รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองไร้ค่า
- ขาดสมาธิ ไม่กล้าตัดสินใจอะไร มีความลังเล
- ทำอะไรช้าลง พูดจาเชื่องช้า หรือกระวนกระวายตลอดเวลา ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้
- มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรืออยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
หากใครมีอาการดังกล่าวข้างต้นตามที่บอกไปก็ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า ควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
โรคซึมเศร้า มีวิธีรักษา อย่างไร เป็นแล้วหายได้ไหม
วิธีการรักษาโรคซึมเศร้าหลัก ๆ คือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด รวมไปถึงการใช้ยาแก้อาการซึมเศร้า ซึ่งในปัจจุบันยารักษาอาการซึมเศร้านั้นมีความปลอดภัยสูง แล้วไม่ทำให้เกิดการติดยาหรือเกิดผลข้างเคียง แต่การรักษาด้วยการกินยานั้นต้องทำตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยต้องหมั่นพาตัวเองทำกิจกรรมที่จะทำให้ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย รวมถึงการรับประทานอาหารต่าง ๆ ที่ทำให้สุขภาพแข็งแรงและช่วยให้สารเคมีในสมองทำงานได้อย่างปกติ
มีอาการซึมเศร้าเหมือนกัน แต่อาจไม่ใช่ โรคซึมเศร้า เสมอไป
บางครั้งเราอาจมีอาการเหมือนโรคซึมเศร้า แต่ไม่แน่ใจว่าใช่โรคซึมเศร้าจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่อารมณ์เศร้าเฉย ๆ ซึ่งเราสามารถเช็กความแตกต่างระหว่างอารมณ์เศร้ากับโรคซึมเศร้าได้ตามนี้
การทำกิจกรรม
อารมณ์เศร้า : ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่หลังจากนั้นจะรู้สึกเศร้า
อาการซึมเศร้า : ไม่สนใจจะทำสิ่งใดเลย แม้สิ่งที่ชอบก็ไม่อยากทำ
การใช้ชีวิต
อารมณ์เศร้า : กินอาหารหรือนอนหลับได้ตามปกติ
อาการซึมเศร้า : มีอาการเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไร หรือกินมากเกินกว่าปกติ นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป
อาการเศร้า
อารมณ์เศร้า : อารมณ์เศร้าจะเกิดขึ้นไม่นาน เป็น ๆ หาย ๆ
อาการซึมเศร้า : มีอารมณ์เศร้าตลอดเวลานานกว่า 14 วัน
หากใครเช็กแล้วพบว่าเป็นเพียงอารมณ์เศร้า อาจลองหากิจกรรมทำ ไม่อยู่ว่าง ๆ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความคิดฟุ้งซ่าน แต่ถ้าหากใครเช็กแล้วพบว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าก็สามารถไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและวินิจฉัยโรคได้ เพราะโรคซึมเศร้าเป็นแล้วก็หายได้ ไม่ต้องกังวลไป หรือหากใครไม่มั่นใจว่าตัวเองเข้าข่ายหรือไม่ก็สามารถทำ >>แบบทดสอบโรคซึมเศร้า<< ของทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลได้เลย
สำหรับใครที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและกำลังรับการรักษาอยู่ อย่าคิดว่าที่ตัวเองป่วยเพราะจิตใจอ่อนไหวไปเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคซึมเศร้านั้นเกิดจากอาการที่สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ ไม่ใช่ใจของเราที่ทำงานผิดปกติ และการที่เราเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์นั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดอะไร นับว่าเป็นการรักตัวเองอย่างถูกต้องแล้ว The Thaiger ก็ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหายป่วยไว ๆ และกลับมามีชีวิตที่สดใสร่าเริงได้อีกครั้ง
- โรคฮิสทีเรีย คืออะไร ผู้หญิง ผู้ชาย ใครเสี่ยงกว่า ไขสาเหตุ การขาดความรักไม่ได้ มีคำตอบ
- โรค aphasia คืออะไร สาเหตุ เกิดจากอะไร รักษายังไงได้บ้าง
- ไขข้อข้องใจ โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจาก อะไร รักษา ยังไง มีคำตอบ
- รู้จัก ภาวะ MIS-C อาการแทรกซ้อนในเด็ก หลังหายป่วยจากโควิด-19 อันตรายถึงชีวิต!
- รู้จัก แม่สายหยุดพัทยา เดิน 2 ก้าว หยุด 2 ชั่วโมง อดีตสาวสวยชีวิตสุดช้ำ พี่เขยขืนใจจนป่วยทางจิต
- ลองโควิด รักษายังไง ? เปิด 7 ขั้นตอนดูแลสุขภาพ คนเคยป่วยต้องเช็ค