ศูนย์จีโนม เผย ยอดผู้ป่วยโควิดไทยลดลง เตรียมเข้าสู้โหมดโรคประจำถิ่น
ศูนย์จีโนม เผยภาพรวมการแพร่ระบาดของโรคโควิด พบ ยอดผู้ป่วยโควิดไทยลดลง ชี้มีความเป็นไปได้สูงว่า เตรียมเข้าสู้โหมดโรคประจำถิ่น ในเร็ววัน
ศูนย์จีโนม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดเผยถึงภาพรวมของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยอดผู้ป่วยโควิดลดลงต่อเนื่อง ว่า “การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรนา 2019 หากมีขึ้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ (new variant) เสมอไป แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย (Omicron sub-variant) ที่อุบัติขึ้นมาได้เช่นกัน หากดูภาพรวมทั้งโลกขณะนี้ (2/5/2565) จะพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง
ภาพรวมของประเทศไทยหลังสงกรานต์พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตค่อยๆ ลดลงเช่นกัน อันเนื่องจากมาประชาชนให้ความร่วมมือดีในการฉีดวัคซีนครบโดส บวกเข็มกระตุ้น และการ์ดไม่ตก โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางกายภาพและการสวมหน้ากากอนามัย รวมไปถึงการตรวจ ATK ด้วยตนเอง
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศไทย BA.1 สูญพันธุ์ไปเรียบร้อย BA.2 ค่อยๆ ลดจำนวนลง มีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยสามารถเข้าสู่โหมด “โรคประจำถิ่น” ที่สาธารณสุขไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ในเร็ววัน
จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของบรรดาไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดทั่วโลกยังไม่ปรากฏพบไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ (new variant) ที่แตกต่างไปจากโอมิครอน
มนุษย์มีความเบื่อหน่ายกับการอยู่ร่วมกับโควิดเป็นอย่างมาก อยากให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นและสามารถกำจัดให้หมดไปได้โดยไวไม่ว่าจะด้วยวัคซีนหรือยาต้านไวรัส เหมือนกับที่เราทำสำเร็จมาแล้วในกรณีของไวรัสไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสโปลิโอ (poliovirus) และไวรัสหัด (measles virus)
แต่ไวรัสโคโรนา 2019 ก็พัฒนาตัวเองเพื่อจะอยู่ร่วมกับเราตลอดไป การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรนา 2019 หรือในประเทศในคือระลอกที่ 6 นั้นอาจไม่จำเป็นต้องเกิดจากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ (new variant) ที่แตกต่างไปจากโอมิครอนเสมอไป เพราะโอมิครอนเองได้แสดงให้เราเห็นว่าสามารถวิวัฒนาการเกิดเป็นสายพันธุ์ย่อย (Omicron sub-variant) ออกมาอย่างต่อเนื่อง
โดยการกลายพันธุ์เพียง 1-2 ตำแหน่งบนยีนที่สร้างส่วนหนามแหลม (spike/S gene) ซึ่งเพิ่มความสามารถในการระบาดระหว่างคนสู่คนได้เร็วกว่าและเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ดั้งเดิม สามารถลดประสิทธิภาพของวัคซีนและหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ อย่างเช่น โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 กำลังเพิ่มจำนวนเข้ามาแทนที่ BA.2 ในประเทศแอฟริกาใต้ หรือ BA.2.12.1 กำลังเพิ่มจำนวนเข้ามาแทนที่ BA.2 ในประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่หากสังเกตให้ดีอาการความรุนแรงในการก่อโรคไม่ได้เพิ่มขึ้น จำนวนผู้เจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมิได้เพิ่มขึ้น ผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5 หรือ BA.2.12.1 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกับโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้องค์การอนามัยโลกยังคงจัดไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้ให้เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน มิได้แยกกลุ่มตั้งชื่อใหม่
องค์การอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐ อังกฤษ และยุโรป กำลังจับตามองโอมิครอนสามสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 ที่เริ่มระบาดมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศแอฟริกาใต้ และ BA.2.12.1 ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา
การเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนบนหนามของไวรัสเพียงตำแหน่งเดียวของ BA.4 และ BA.5 ณ ตำแหน่ง “L542R” สามารถส่งเสริมการแพร่ระบาดได้เหนือกว่า BA.2 ถึง 63-84%
ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนบนหนามเพียงตำแหน่งเดียวของ B.2.12.1 ณ ตำแหน่ง L452Q ก็สามารถส่งผลให้ “BA.2.12.1” สามารถแพร่ระบาดได้เหนือกว่า “BA.2″ ถึง 96%
BA.4 – จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่ามีความได้เปรียบในการเพิ่มจำนวนเทียบกับสายพันธุ์อื่นในประเทศแอฟริกาใต้ประมาณ 46%
BA.5 – จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่ามีความได้เปรียบในการเพิ่มจำนวนเทียบกับสายพันธุ์อื่นในประเทศแอฟริกาใต้ประมาณ 60%
BA.2.12.1 – จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่ามีความได้เปรียบในการเพิ่มจำนวนเทียบกับสายพันธุ์อื่นในประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 72%
จะเห็นได้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่โอมิครอน 3 สายพันธุ์ย่อย (3 new sub-variant) กล่าวคือ BA.4 และ BA.5 อาจก่อให้เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ในแอฟริกาใต้ (ภาพ 7) ส่วน BA.2.12.1 อาจก่อให้การระบาดระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกา (ภาพ8) จากนั้นอาจมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ (new variant) ที่แตกต่างจากโอมิครอนอุบัติขึ้นมา”
- ยอดลดต่อเนื่อง! โควิดไทยวันนี้ 3 พ.ค. 65 ติดเชื้อเพิ่ม 9,721 ราย ดับ 77 ศพ
- เปิดรายชื่อ 12 จังหวัด ขาลง โควิด อาจเข้าโรคประจำถิ่นก่อน
- หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ แจงในโหนกระแส ทำไม ‘โอมิครอน’ แพร่เร็ว