รีวิวการฝังยาคุม สาว ๆ รู้ไว้ จะได้ไม่เสี่ยงตั้งครรภ์
รีวิวการฝังยาคุม หนึ่งในทางเลือกการคุมกำเนิดที่ได้ผลดีที่สุด และเสี่ยงตั้งครรภ์ต่ำมาก (0.05%) ซึ่งการฝังยาคุมกำเนิดนั้นเป็นวิธีการ “คุมกำเนิดชั่วคราว” ที่ออกฤทธิ์นาน เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ต้องการจะคุมกำเนิดระยะยาวหรือมักจะชอบลืมกินยาคุม ซึ่งการฝังยาคุมกำเนิดนั้นมีทั้งแบบ 3 ปี และ 5 ปี โดยแต่ละแบบจะแตกต่างกันยังไง วันนี้เรามาศึกษาไปพร้อมกันเลยดีกว่า
การฝังยาคุม คืออะไร
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าการคุมกำเนิดนั้นมีหลากหลายวิธี และหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดก็คือ “การฝังยาคุม” (Implantable contraceptive หรือ Contraceptive implant) ฝังยาคุมคือการใช้หลอดยาคุมฝังไว้ใต้ท้องแขน เพื่อปล่อยฮอร์โมน “โปรเจสติน” (Progestin) ออกมา ทำให้มดลูกอยู่ในสภาวะที่อสุจิจะผ่านไปได้ลำบาก และส่งผลต่อการตกไข่ด้วยเช่นกัน ซึ่งยาคุมแต่ละชนิดก็จะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ต่างกัน
- Implanon® (อิมพลานอน)
เป็นยาคุมที่มีขนาดแท่งยาว 4.0 X 0.20 เซนติเมตร ใช้ 1 แท่ง คุมกำเนิดได้ 3 ปี มีปริมาณฮอร์โมน Etonogestrel 68 มิลลิกรัม แท่งยาจะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนวันละ 70-60 ไมโครกรัม
- Jadelle® (จาเดลล์)
เป็นยาคุมที่มีขนาดแท่งยาว 4.3 X 0.25 เซนติเมตร ใช้ 2 แท่ง คุมกำเนิดได้ 5 ปี มีปริมาณฮอร์โมน Levonorgestrel 75 มิลลิกรัม แท่งยาจะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนวันละ 100-40 ไมโครกรัม
การฝังยาคุมกำเนิดทั้ง 2 แบบนั้น ผลข้างเคียง คล้ายกับการฉีดยาคุมกำเนิด แต่จะไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม และการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนก็มีน้อยกว่าด้วย
การออกฤทธิ์ของการฝังยาคุม
เนื่องจากว่าการฝังยาคุมกำเนิดนั้นมีเพียงฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) ชนิดเดียว ต่างจากยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดที่เป็นฮอร์โมนรวม จะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) รวมอยู่ด้วย ทำให้การฝังยาคุมกำเนิดไม่ได้รับผลข้างเคียงของฮอร์โมนเอสโตรเจนดังกล่าว
ส่วนการออกฤทธิ์ของการฝังยาคุมกำเนิดนั้น จะทำให้ไข่ไม่พัฒนา จึงส่งผลให้ไม่เกิดการตกไข่ ไม่มีไข่รอผสมกับเชื้ออสุจิ อีกทั้งยังมีผลทำให้ปากมดลูกมีเมือกข้นเหนียว สร้างความลำบากต่อการเดินทางของเชื้ออสุจิ
- ช่วงเวลาที่ควรฝังยาคุมกำเนิด
ระยะเวลาที่ดีที่สุดที่ควรรับฝังยาคุมกำเนิดคือ “ภายใน 5 วันแรก หลังมีประจำเดือน” เช่น เรามีประจำเดือนวันที่ 1-10 มีนาคม ระยะเวลาที่ควรไปฝังยาคุมคือ ไม่เกินวันที่ 5 มีนาคม หรือภายหลังการแท้งบุตรไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือหลังการคลอดบุตรไม่เกิน 4-6 สัปดาห์
การฝังยาคุม มีค่าใช้จ่ายกี่บาท?
ฝังยาคุม ราคาเท่าไหร่
- ฝังยาคุม โรงพยาบาลของรัฐจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 2,500-4,000 บาท
- ฝังยาคุม โรงพยาบาลเอกชนหรือตามคลินิกค่าบริการจะอยู่ที่ประมาณ 5,000-7,000 บาท
- เด็กอายุน้อยกว่า 20 ปี ตอนนี้มีสวัสดิการฝังให้ฟรี สามารถไปติดต่อขอรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้เลย
ประโยชน์ของการฝังยาคุม
- ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน
- ช่วยลดโอกาสการเกิดอาการซีดจากการมีประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก
- ช่วยป้องกันการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
ผลข้างเคียงของการฝังยาคุมกำเนิด
- ในระยะเวลา 2-3 เดือนแรก ประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมาแบบกะปริดกะปรอย หรือตกขาวมาก ซึ่งเป็นอาการพบได้มากที่สุด หรือในบางรายประจำเดือนมามากติดต่อกันหลายวัน ไม่มีประจำเดือน หรือประจำเดือนขาด บางครั้งก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 0.05 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด ประมาณ 7-10 วัน เพื่อช่วยลดอาการเลือดออกกะปริดกะปรอย
- บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยและปวดประจำเดือนบ้างในระยะ 2-3 เดือนแรก
- ในระยะแรกอาจมีอาการปวดแขนบริเวณที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิด
- แผลที่ฝังยาคุมกำเนิดอาจเกิดการอักเสบหรือมีรอยแผลเป็นได้
- มีอารมณ์แปรปรวน
- มีอาการปวดหรือเจ็บเต้านม
- บางรายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (แต่ถ้าควบคุมอาหารได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร)
- อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
- หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น จะมีโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ
- อาจทำให้เป็นสิว ขนดก และมีความต้องการทางเพศลดลง (สามารถเกิดขึ้นได้ในบางราย)
ข้อดีของการฝังยาคุม
- ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก
- เป็นวิธีที่มีความสะดวก ฝังครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี (แล้วแต่ชนิดของยา)
- ไม่ต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน จึงช่วยลดโอกาสการลืมกินยา หรือลดโอกาสฉีดยาคุมคลาดเคลื่อนไม่ตรงกำหนด ที่ต้องไปฉีดยาทุก ๆ 1-3 เดือน
- เนื่องจากยาฉีดคุมกำเนิดมีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ไม่ได้รับผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเหมือนการคุมกำเนิดรูปแบบอื่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นฝ้า ฯลฯ
- สามารถเลิกใช้เมื่อใดก็ได้ เมื่อต้องการจะมีบุตรหรือเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น
- ใช้ได้ดีในผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะไม่มีผลต่อการหลั่งของน้ำนม
- ไม่ทำให้การทำงานของตับเปลี่ยนแปลง
- หลังจากถอดออกจะสามารถมีลูกได้เร็วกว่าการฉีดยาคุมกำเนิด เนื่องจากฮอร์โมนกระจายออกในปริมาณน้อยและไม่มีการสะสมในร่างกาย
- มีผลพลอยได้จากการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ทำให้อาการปวดประจำเดือนมีน้อยลง, ลดโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูก, ป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, ลดอุบัติการณ์ของภาวะโลหิตจาง ฯลฯ
ข้อเสียของการฝังยาคุม
- การฝังและการถอดจะต้องทำโดยแพทย์ที่ได้รับการอบรมแล้ว (ไม่สามารถถอดหรือฝังโดยแพทย์ทั่วไปได้) จึงไม่สามารถใช้หรือถอดได้เอง
- ในบางรายสามารถคลำเจอแท่งยาในบริเวณท้องแขนได้
- ประจำเดือนอาจมาแบบกะปริดกะปรอย จึงทำให้ต้องใส่ผ้าอนามัยอยู่เป็นประจำ จะไม่ใส่ก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งก็มาแบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งหลาย ๆ คน กังวลกับปัญหาเหล่านี้ (แต่เมื่อผ่านระยะหนึ่งปีขึ้นไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะน้อยลง)
- อาจพบภาวะแทรกซ้อนหลังการฝังยาคุมกำเนิดได้ เช่น มีก้อนเลือดคั่งบริเวณที่กรีดผิวหนัง
- อาจพบว่าตำแหน่งของแท่งยาเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม (พบได้น้อย)
การฝังยาคุม มีโอกาสท้องไหม?
นับว่าเป็นคำถามยอดฮิตที่สาว ๆ ถามกันมามากที่สุดเลยก็ว่าได้ การฝังยาคุมกำเนิดเนี่ยแม้จะเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ แล้ว แต่ก็ยัง “มีโอกาสตั้งครรภ์” ได้อยู่ เพียงแต่โอกาสน้อยมาก ๆ เท่านั้นเอง อย่างที่ได้บอกไปตอนต้นแล้วว่ามีโอกาสท้องเพียง 0.05% เท่านั้น ซึ่งก็แปลว่าผูหญิง 1 ใน 2,000 คนที่ฝังยาคุมมีโอกาสท้องได้ เพราะในโลกนี้ไม่มีวิธีการใดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้แบบ 100% นอกเสียจากว่าเราจะไม่มีเพศสัมพันธ์เลย เพียงแต่การฝังยาคุมกำเนิดนั้นเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีอัตราล้มเหลวน้อยที่สุดเท่านั้นเอง
สำหรับสาว ๆ ที่กำลังอ่าน รีวิวการฝังยาคุม นี้อยู่ ก็คงจะได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้นใช่ไหมล่ะ แต่ถ้าใครไม่สะดวกฝังยาคุม เขาก็ยังมีวิธีการคุมกำเนิดในรูปแบบอื่น ๆ รองรับไว้ด้วย ใครที่ไม่ประสงค์จะมีบุตรในเร็ว ๆ นี้ก็ควรศึกษาวิธีการคุมกำเนิดแบบต่าง ๆ เอาไว้ จะได้ลดโอกาสตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์กัน
เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
- วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน รู้ไว้ กินตอนไหน กินยังไง ลดโอกาสท้อง!
- เริ่มแล้ว! แจกยาคุมกำเนิด ผ่าน แอปเป๋าตัง สำหรับสตรีอายุ 15-59 ปี
? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger