เปิดประวัติ “วันจาตุรงคสันนิบาต” 24 กุมภาพันธ์ 2567 มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างไรกับ “วันมาฆบูชา” รวมข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมไขข้อสงสัยเกร็ดความรู้พุทธศาสนา
ชวนทำความรู้จัก วันจาตุรงคสันนิบาต ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 คือ “การประชุมด้วยองค์ 4” จากเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันดังกล่าว คือ เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย ซึ่งตรงกับ “วันมาฆบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ส่วนสาเหตุที่ต้องเรียกเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต” ทั้ง ๆ ที่ตรงกับ “วันมาฆบูชา” มีประวัติย้อนกลับไปในช่วงการเพิ่งตรัสรู้ใหม่ ๆ ของพระพุทธเจ้า โดยมีรายละเอียดประวัติน่าสนใจดังต่อไปนี้
ประวัติ “วันจาตุรงคสันนิบาต” หมายถึงวันใด
อย่างที่ได้เขียนไว้ในหัวข้อว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” คือวันที่มีการเกิดขึ้นขององค์ประชุมครบ 4 อย่าง ว่าแต่ใคร ประชุมอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำไมต้องประชุม เดี๋ยวเราจะเล่าให้ฟังเอง
ทำไมถึงเรียก วันจาตุรงคสันนิบาตว่าวันมาฆบูชา เพราะในความเป็นจริงแล้วคำว่า “มาฆบูชา” นั้นย่อมาจากคำว่า “มาฆปูรณมีบูชา” ซึ่งหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ (ตามปฏิทินอินเดีย) หรือเดือน 3 (ตามปฏิทินไทย 2566)
เราสามารถเรียกวันดังกล่าวว่า “วันมาฆบูชา” หรือ “วันจาตุรงคสันนิบาต” ก็ได้ทั้ง 2 แบบ เพราะทั้งสองนั้นเป็นวันเดียวกัน เพียงแต่วันจาตุรงคสันนิบาต เป็นการขยายความเพิ่มถึงความมหัศจรรย์ที่บังเกิดขึ้นในวันมาฆบูชา แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็นิยมเรียกกันว่า วันมาฆบูชา เพราะเป็นชื่อที่สั้นและกระชับมากกว่า
นอกจากนี้แล้วอีกความสำคัญหนึ่งของวันจาตุรงคสันนิบาต คือการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา “โอวาทปาติโมกข์” เป็นครั้งแรก ซึ่งการแสดงธรรมดังกล่าวนี้จะเกิดเพียงแค่ยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ละ 1 ครั้งเท่านั้น (ยุคไหนมีพระพุทธเจ้า ยุคนั้นจะมีการแสดงโอวาทปาติโมกข์เกิดขึ้น)
ทั้งนี้เราสามารถแยกคำศัพท์ “จาตุรงคสันนิบาต” ได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้
- จาตุร = 4
- องค์ = ส่วน
- สันนิบาต = ประชุม
เมื่อรวมกันแล้ว จาตุรงคสันนิบาต จึงแปลได้ว่า การประชุมครบ 4 ส่วน ดังนั้น วันจาตุรงคสันนิบาต จึงหมายถึง วันที่มีการประชุมพร้อมกันทั้ง 4 องค์ประกอบ
ย้อนตำนาน “วันจาตุรงคสันนิบาต”
ขอเล่าย้อนกลับไปก่อนจะเกิดวันวันจาตุรงคสันนิบาตกันสักเล็กน้อย ราว ๆ 9 เดือน หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงนำพระธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นมาเผยแพร่เทศนาสั่งสอนเหล่าพระภิกษุผู้เป็นสาวกทั้งหลาย อีกทั้งยังเป็นการวางแบบแผนหรือพระวินัยให้สาวกได้ปฏิบัติตามเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย
พระธรรมเทศนาที่ได้ใช้สอนพระสาวกเรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” ซึ่งนับว่าเป็นแก่นแท้ หรือ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา โดยการแสดงพระธรรมเทศนา หรือ การแสดงโอวาทปาติโมกข์ ครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ได้ 9 เดือนเนี่ย ก็ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 พอดี (เดือนมาฆะ) หรือ เป็นวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) และที่สำคัญคือ เป็นวันที่ตรงกับ “วันศิวาราตรี” ของศาสนาพราหมณ์ด้วย
ด้วยเหตุที่ว่าบรรดาพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าล้วนแล้วแต่เคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน พอมาถึงวันศิวาราตรี ที่ปกติจะต้องพากันไปบูชาพระศิวะ บัดนี้นับถือพระพุทธองค์เป็นสรณะจึงเกิดความคิดที่ว่าควรจะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน พระสงฆ์สาวกทั้งหมด 1,250 รูป จึงต่างเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ โดยไม่ได้นัดหมายกันล่วงหน้า (เพียงแต่ใจตรงกัน)
แต่ก็มีบางข้อเท็จจริงมาแย้งว่าพระศิวะเพิ่งจะเป็นที่นิยมบูชาของศาสนาพราหมณ์หลังยุคพุทธกาล ประมาณปี พ.ศ. 800 (หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 800 ปี) ซึ่งถ้าข้อมูลนี้เป็นเรื่องจริงก็นับว่าเป็นเรื่องราวความอภินิหารอย่างหนึ่งที่คนทั้ง 1,250 คน จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมพร้อมกัน ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่ไม่มีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้า
ที่น่ามหัศจรรย์มากไปกว่านั้นคือ การที่พระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูป ล้วนแล้วแต่เป็นพระสงฆ์ที่บรรลุอรหันต์แล้ว และยังเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง) อีกด้วย ดังนั้นอาจสรุปความอัศจรรย์ของวันนี้ได้ว่า
- เป็นวันพระจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)
- เป็นวันที่พระสงฆ์สาวก 1,250 รูป เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยไม่ได้นัดหมายกัน
- พระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูป ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น (ผู้ทรงอภิญญา 6)
- พระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูป ล้วนแล้วแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าบวชให้)
สรุป วันจาตุรงคสันนิบาติ หมายถึงวันใด คือเหตุการณ์สำคัญทั้ง 4 เหตุการณ์ เกิดขึ้นพร้อมกัน ในวันเดียวกัน เวลาเดียวกัน และไม่เคยมีการวางแผนกันไว้ล่วงหน้ามาก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นวันที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์และเหตุบังเอิญสำคัญ 4 อย่าง ทำให้วันนี้ถูกเรียกว่าเป็น “วันจาตุรงคสันนิบาต”
เรียกว่าเป็นเรื่องราวที่มหัศจรรย์อย่างมากกับเหตุการณ์ทั้ง 4 อย่าง ที่เกิดขึ้นใน “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือ “วันมาฆบูชา” ที่เรารู้จักกันดี สำหรับใครที่วางแผนไว้ว่าจะไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันนี้ ก็สามารถเดินทางไปที่วัดใกล้บ้านของท่านได้เลย หรือหากใครไม่สะดวก และเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของโรคโควิด-19 ทางกรมศาสนาก็ได้ออกเว็บไซต์สำหรับ เวียนเทียนออนไลน์ มาให้เราได้เข้าไปทำบุญกันด้วยนะครับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติ “วันมาฆบูชา” 24 กุมภาพันธ์ 2567 วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
- รอชม “ไมโครฟูลมูน” วันมาฆบูชา 24 ก.พ. พระจันทร์เต็มดวงที่ไกลที่สุด
- รวมลิงก์เว็บไซต์ เวียนเทียนออนไลน์ วันมาฆบูชา 2567 ช่วยลดมลพิษทางอากาศ
อ้างอิง : วิกิพีเดีย