กระทรวการคลัง แถลง ผลประมาณการ เศรษฐกิจไทย 2564 – 2565 คาดขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี โดยมีปัจจัยจากการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
(28 ม.ค. 2565) เศรษฐกิจไทย ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 ถึง 1.4) ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนตุลาคม 2564 ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี
โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น
คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.1 ถึง 0.4) และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 ถึง 3.9) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 19.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 18.7 ถึง 19.2) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) ที่ทยอยคลี่คลายลง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด
คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0) และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 ถึง 4.1) ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 ถึง 1.7) และร้อยละ 3.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 ถึง 4.2) ตามลำดับ
ทั้งนี้ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 ถึง 5.5) ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.4 – 2.4) และยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันกำหนดที่ระดับร้อยละ 1.0 – 3.0 ต่อปี
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่
1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต
2) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
3) ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง
4) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ และ 5) ราคาพลังงานและน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะได้มีการติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ
- คาด! มีผู้ใช้งาน สนามบินสุวรรณภูมิ เพิ่มขึ้น ในช่วงเทศกาล ตรุษจีน 2565
- กรมบังคับคดี เตรียมจัดงาน มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน : 25-26 ก.พ.