กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจง ข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยในกิจการก่อสร้าง พร้อมคุมเข้มให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย หวังลดอัตราการประสบอันตรายจากงานก่อสร้าง
ข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยในกิจการก่อสร้าง – (19 ม.ค. 2565) นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากความห่วงใยของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของกิจการประเภทก่อสร้าง โดยสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแลเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนายจ้างในการดำเนินมาตรการเชิงป้องกันและปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564
โดยหวังลดอัตราการประสบอันตรายจากกิจการงานก่อสร้าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้มอบหมายให้พนักงานตรวจความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการปฏิบัติงานของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้างให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากงานก่อสร้าง พร้อมเน้นย้ำให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับงานก่อสร้างอันได้แก่
1. แจ้งข้อมูลงานก่อสร้างก่อนเริ่มงานก่อสร้างไม่น้อยกว่าสิบห้าวันตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่อง กำหนดแบบแจ้งข้อมูลก่อนเริ่มงานก่อสร้าง
2. ดำเนินการให้พื้นที่ทำงานก่อสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในงานก่อสร้างได้อย่างปลอดภัย
3. จัดให้มีผู้ควบคุมงานทำหน้าที่ตรวจความปลอดภัยในการทำงานก่อนการทำงานและขณะทำงานทุกขั้นตอนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
4. ติดป้ายเตือนอันตราย สัญญาณแสงสีส้ม ณ ทางเข้าออกของยานพาหนะทุกแห่ง และจัดให้มีผู้ให้สัญญาณในขณะที่มียานพาหนะเข้าออกเขตก่อสร้าง
5. กำหนดบริเวณเขตก่อสร้าง โดยทำรั้วสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร ที่มั่นคงแข็งแรงไว้ตลอดแนวเขตก่อสร้าง หรือกั้นเขตด้วยวัสดุที่เหมาะสมตามลักษณะงาน และมีป้าย“เขตก่อสร้าง” แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน และห้ามมิให้บุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในเขตก่อสร้างนั้น
6. กำหนดเขตอันตรายในเขตก่อสร้าง โดยจัดทำรั้วหรือกั้นเขตด้วยวัสดุที่เหมาะสมกับอันตรายนั้น และมีป้าย “เขตอันตราย” แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน และในเวลากลางคืนต้องจัดให้มีสัญญาณไฟสีส้มตลอดเวลา และห้ามมิให้บุคคลซึ่งไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในเขตอันตราย
อธิบดี กสร.กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กิจการประเภทก่อสร้าง ยังต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ ได้แก่
1. การประกอบ การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ การซ่อมแซม การบำรุงรักษา การตรวจสอบ การรื้อถอนปั้นจั่นหรืออุปกรณ์อื่นของปั้นจั่น ต้องปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้งานที่ผู้ผลิตหรือวิศวกรกำหนดไว้
2. จัดให้มีสัญญาณเสียงและแสงไฟเตือนภัยตลอดเวลาที่ปั้นจั่นทำงานโดยติดตั้งไว้ให้เห็นและได้ยินชัดเจน
3. จัดทำเส้นแสดงเขตอันตราย เครื่องหมายแสดงเขตอันตราย หรือเครื่องกั้นเขตอันตรายในเส้นทางที่มีการใช้ปั้นจั่นเคลื่อนย้ายสิ่งของ
4. ต้องไม่ใช้ลวดสลิงที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ลวดสลิงที่ลวดเส้นนอกสึกไปตั้งแต่หนึ่งในสามของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นลวด หรือลวดสลิงถูกความร้อนทำลายหรือเป็นสนิมมากจนเห็นได้ชัดเจน เป็นต้น
ทั้งนี้หากนายจ้างและลูกจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานมาตรฐานวิศวกรรมความปลอดภัยในการทำงาน กองความปลอดภัยแรงงาน 0 2448 9128 – 39 ต่อ 303 – 305
แหล่งที่มาของข่าว : รัฐบาลไทย
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ