ประวัติ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นักร้องลูกทุ่งระดับตำนานของไทย เจ้าของเพลงฮิตมากมาย
ประวัติ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นักร้องลูกทุ่งระดับตำนานของไทย รวมถึงเป็น ศิลปินแห่งชาติ และเจ้าของเพลงฮิตมากมายอีกด้วย
ถ้าพูดถึงนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงและเป็นตำนานของประเทศไทย หลาย ๆ คนคงนึกถึง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ศิลปินแห่งชาติในสาขา ศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ในปี พ.ศ 2540 และเจ้าของเพลงฮิตเพลงดังมากมาย ที่เฉิดฉายอยู่ในวงการเพลงมานานหลายสิบปี วันนี้เราจะพาไปรู้จักนักร้องคนนี้ให้มากขึ้นกัน
ประวัติ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ มีชื่อจริงว่า นายพราน สกุลณี ชาวไทยเชื้อสายลาว เกิดเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ 2485 ปัจจุบันมีอายุ 79 ปี เกิดที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายจำปี และนางอ่ำ สกุลณี เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดวังน้ำเย็น
นายพราน เริ่มหัดร้องเพลงตั้งแต่อายุได้เพียง 2 ขวบ โดยเริ่มหัดร้องเพลงอีแซวตามมารดา ครั้นเมื่ออายุได้ 14 ปี ก็ได้หัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง และเข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 16 ปี โดยเพลงที่ร้องเป็นเพลงแหล่ของ พร ภิรมย์ ชื่อเพลง “จันทโครพ” ผลปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1
ในช่วงเวลานั้นมีนักร้องลูกทุ่งชื่อดังเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ นายพราน เกิดความสนใจในการร้องเพลงลูกทุ่งเป็นอย่างมาก ต่อมาเจ้าตัวได้สมัครประกวดร้องเพลงอีก และได้รับความชื่นชอบจากผู้ฟังเป็นจำนวนมาก จึงมีคนชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่ง และได้รับชื่อว่า ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ในเวลาต่อมา และเขาก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากกับเพลง “ให้พี่บวชเสียก่อน”
ต่อมา ไวพจน์ เริ่มมีชื่อเสียง และได้สร้างผลงานเพลงดังมากมาย อาทิ หนุ่มนารอนาง, สาละวันรำวง และ สาวภูไท เป็นต้น และไม่เพียงแต่เพลงลูกทุ่งเท่านั้น แต่เขายังมีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้เกือบทุกชนิดทั้งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เป็นต้น
นอกจากจะร้องเพลงแล้ว ไวพจน์ ยังเป็นนักแต่งเพลงที่มากฝีมืออีกด้วย โดยเขาเคยแต่งเพลงให้กับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และทำให้ พุ่มพวง ได้ขึ้นมาเป็น ราชินีลูกทุ่ง คนที่ 2 ของวงการเมืองไทยด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเขายังมีผลงานแสดงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สาละวัน (ปี 2512), ไทยใหญ่ (ปี 2513), มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม (ปี 2545) และอีกมากมาย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 15:24 น. ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เสียชีวิต อย่างสงบ หลังเข้ารับการรักษาตัว ด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลตากสิน ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564
อ่านข่าวเพิ่มเติม