สธ. เตรียมใช้งาน มาตรการจัดการฝุ่นละออง PM 2.5 แบบเดียวกับโควิด-19
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศถึงการเตรียมดำเนินการใช้งาน มาตรการจัดการฝุ่นละออง PM 2.5 โดยอ้างอิงจากแนวทางกับที่ใช้ในโควิด-19
สธ. มาตรการจัดการฝุ่นละออง PM 2.5 – วันนี้ (16 ธ.ค. 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1/2565 ว่า ที่ประชุมฯ หารือในเรื่องการรับมือกับสถานการณ์ที่จะถูกกระทบโดยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ที่มีความกดอากาสสูงมาก
นายอนุทินได้กล่าวว่า “ทั้งนี้ได้มอบในที่ประชุมฯ โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พิจารณามาตรการโควิด-19 ที่สามารถต่อยอดการป้องกันฝุ่น PM2.5 ด้วย โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันโควิด-19แล้วยังป้องกันฝุ่นได้ หากผู้ที่ใช้หน้ากากอนามัย ชนิด N95 อยู่แล้วก็จะได้รับผลกระทบน้อย ส่วนหน้ากากชนิดทั่วไปก็สามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง ผมมอบให้หน่วยงานที่ดูเรื่องนี้ศึกษาข้อมูลและชี้แจงต่อประชาชนว่า หน้ากากอนามัยทั่วไปจะป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ในระดับใด นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ เห็นชอบการออกแนวทางควบคุม ป้องกัน เฝ้าระวัง และรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นด้วย”
รมว.สธ. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มีคำแนะนำช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สำหรับประชาชน ให้ติดตามค่าฝุ่นละอองก่อนออกจากบ้านและป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หากใครมี N95 ก็สามารถนำมาใช้ได้ สำคัญที่สุดคือ มาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง สามารถลดค่าใช้จ่ายกิจการได้
ดังนั้น หาก Work From Home ได้จะช่วยลดฝุ่นละอองได้ เป็นการประยุกต์โควิด-19 กับสถานการณ์ PM2.5 ได้ ส่วนการใช้ยานพาหนะที่ประชาชมสามารถทำได้เลย จึงขอความร่วมมือลดการใช้ยานพาหนะ หรือใช้วิธีคาร์ พูล (Car Pool) เดินทางร่วมกันในรถ 1 คัน ร่วมกับสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ตรวจสอบสภาพรถไม่ให้ปล่อยควันดำออกมา ส่วนโรงงานต่าง ๆ ก็มีมาตรฐานกำกับดูแลอยู่แล้ว
“หากเรารวมกันได้ในภาคประชาชน อุตสาหกรรม ปัญหา PM2.5 ก็จะคลี่คลายลงไป เราต้องช่วยกันเหมือนในสถานการณ์โควิด ที่ภาครัฐออกมาตรการ แล้วประชาชนปฏิบัติตาม สถานการณ์ก็คลี่คลายลงไปได้”
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า คาดการณ์ว่าปีนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะรุนแรงกว่าปีที่แล้ว เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ 1 ปีที่แล้ว มีมาตรการล็อกดาวน์ กิจกรรมต่างๆ ลดลง ฝุ่นจึงน้อยลง แต่ปีนี้มีนโยบายเปิดประเทศ จะมีการสัญจรมากแหล่งกำเนิดฝุ่นจะมาก 2.การคาดว่าปีนี้จะมีความกดอากาศสูงมากกว่าปีที่ผ่าน
ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานในที่ประชุมฯ มีการจัดระบบเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อม และประกาศให้ฝุ่น PM2.5 เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เทียบเคียงกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่มีการประกาศโรคที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมเห็นชอบ 5 กลุ่มโรคเฝ้าระวัง คือ 1.โรคที่เกิดจากทางเดินหายใจ 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคตาอักเสบ 4.ผิวหนังอักเสบ และ 5.โรคอื่นๆ
นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยจัดระบบให้โรงพยาบาลรายงานกลุ่มโรค รวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังโรค และ การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมจากแอพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Air4Thai ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบบริเวณที่มีฝุ่น PM2.5 สูง และประกอบกับโรคที่เกิดในคนเพิ่มขึ้น หลังจากนั้น คณะกรรมการโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมจังหวัด/กรุงเทพมหานคร รับไปดำเนินการแจ้งเตือนประชาชน ออกมาตรการ ห้ามกิจกรรมใดบ้าง
“รัฐมนตรีว่าการ สธ. เน้นย้ำว่า หากสถานการณ์มากขึ้น อันตรายกับประชาชนป่วยมากขึ้น อาจต้องเพิ่มมาตรการเวิร์ก ฟรอม โฮม การสวมหน้ากากอนามัยที่คนไทยสวมกันอยู่แล้ว ซึ่งกรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการศึกษาว่า หากสถานการณ์ฝุ่นมากขึ้น การใช้แบบ N95 หรือสวมหน้ากาก 2 ชั้น แบบใดจะเหมาะสมกว่ากัน”
นพ.โอภาส กล่าวว่า มาตรการฝุ่น PM2.5 ก็จะเหมือนโควิด-19 ที่ปรับตามระดับสีเขียว เหลือง และแดง เพราะไม่ได้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เหมือนกันหมด จึงจะมีการกำหนดลดกิจกรรมต่างๆ ลงขึ้นกับสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องงดกิจกรรมทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม ฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลา จึงให้ใช้กลไกระดับพื้นที่ โดยคณะกรรมการฯ จังหวัดดำเนินการตามมาตรการที่ส่วนกลางกำหนด
ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการโควิด-19 และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM2.5 ประชาชนต้องแยกอาการอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า อาการโควิด-19 เหมือนไข้หวัดและปอดบวมเป็นหลัก เป็นปัจจัยโดยตรง และตรวจหาเชื้อได้ ส่วนฝุ่นจะเกิดขึ้นในลักษณะปัจจัยเสริมที่ทำให้ 4-5 กลุ่มโรค มีอาการมากขึ้น เช่น หอบหืด โรคประจำตัว
นพ.โอภาส กล่าวปิดท้ายว่า “อีกเรื่องที่ย้ำคือ โควิด-19 กับ PM2.5 อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากภาวะสิ่งแวดล้อมไม่ดี รวมถึงคนที่ติดเชื้อโควิด-19 หากมี PM2.5 เข้าไปด้วยก็จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องให้ประชาชนระวังทั้ง 2 โรคนี้”
แหล่งที่มาของข่าว : มติชนออนไลน์ (Matichon Online)
สามารถติดตามข่าวทั่วไปเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวทั่วไป