สุขภาพและการแพทย์

ไขคำตอบ ทำไมเงาะ ถึงชื่อ ‘เงาะโรงเรียน’

เงาะ ทำไมต้องเรียก เงาะโรงเรียน เงาะมหาลัยได้ไหม ? เปิดที่มา ประวัติ ผลไม้ลูกเล็กๆ ที่รสชาติหวาน กรอบ อร่อย ที่หลายคนน่าจะเคยลิ้มรสชาติกันจนคุ้นเคยดี

ชื่อเสียงของเงาะโรงเรียนนั้นฮิตติดหูกันมาช้านาน แต่คอเงาะทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า ต้นกำเนิดของเงาะโรงเรียนขนานแท้และดั้งเดิมนั้น มาจากที่ไหน แล้วทำไมถึงต้องชื่อ “เงาะโรงเรียน” เรียกเงาะมหาลัย เงาะกศน. หรือ เงาะอาชีวะ ไม่ได้หรือ

Advertisements

นอกจากนี้เราจะขอไปเปิดเผยอีกหนึ่งที่มาอันเอกลักษณ์ของผลไม้ชนิดนี้ว่า ขนปุกปุยที่อยู่บนผืนผิวผลไม้ชนิดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

ที่มาของชื่อ เงาะโรงเรียน

ก่อนจะไปเรื่องของที่มาของชื่อเงาะโรงเรียน เราขอยกข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของ เงาะ กันเสียก่อน

โดยข้อมูลจากวิกิพีเดีย เงาะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nephelium lappaceum Linn เป็นไม้ผลเมืองร้อนขนาดกลางในวงศ์ Sapindaceae เป็นผลไม้พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตได้ดี ในบริเวณที่มีความชื้นค่อนข้างสูง

เงาะในประเทศไทย นิยมปลูกกันมากในบริเวณภาค ตะวันออกและภาคใต้ อาทิ พันธุ์สีทอง พันธุ์น้ำตาลกรวด พันธุ์สีชมพู พันธุ์โรงเรียน และพันธุ์เจ๊ะมง เป็นต้น

Advertisements

พันธุ์เงาะที่นิยมปลูกเป็นการค้า มีแค่ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์โรงเรียน พันธุ์สีทอง และพันธุ์สีชมพู ส่วนพันธุ์อื่น ๆ จะมีปลูกกันบ้างประปราย

ในอดีตประเทศที่ผลิตและส่งออกรายใหญ่ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันพบว่าประเทศผู้ผลิตใหม่ เช่น ออสเตรเลีย และฮอนดูรัส ได้เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มมากขึ้น

สำหรับที่มาของเงาะโรงเรียนนั้น ข้อมูลจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ เมืองนาสาร Nasan City คำว่า “โรงเรียน” หมายถึง โรงเรียนนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากชายชาวจีนสัญชาติมาเลเซียที่ชื่อ Mr. K. Wong ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองปีนังได้นำเมล็ดพันธุ์เงาะมาจากปีนังมาปลูกข้างบ้านพัก 4 ต้น ต่อมาปรากฏว่าเงาะมีลูกเป็นสีเหลืองบ้าง แดงบ้าง รสเปรี้ยวบ้าง หวานบ้าง

แต่เฉพาะต้นที่ 2 นับจากทิศตะวันออกมีลักษณะพิเศษกว่าต้นอื่น คือ เนื้อสุกแล้วเปลือกผลเป็นสีแดง แต่แม้สุกจัดเท่าไหร่ก็ตาม ขนที่ผลยังมีสีเขียวอยู่ รูปผลค่อนข้างกลม เนื้อกรอบ หวาน หอม เปลือกบาง เงาะต้นนี้คือ “เงาะพันธุ์โรงเรียน” สาเหตุที่เรียกว่าเงาะพันธุ์โรงเรียน เพราะในปี พ.ศ.2479 Mr. K. Wong ต้องเลิกล้มกิจการเหมืองแร่และเดินทางกลับไปอยู่ที่เมืองปีนังภูมิลำเนาเดิม จึงขายที่ดินดังกล่าวพร้อมด้วยบ้านพักให้แก่กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) แผนกธรรมการ อำเภอบ้านนา (อำเภอบ้านนาสาร) ทางราชการจึงปรับปรุงบ้านพักใช้เป็นอาคารเรียน และย้ายโรงเรียนนาสารซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่วัดนาสารมาอยู่อาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิการยน พ.ศ.2479 แต่เงาะพันธุ์โรงเรียนในขณะนั้นยังมิได้แพร่หลายแต่ประการใด เนื่องจากการส่งเสริมทางการเกษตรยังไม่ดีพอ

กระทั่งต่อมาในปี พ.ศ.2489-2498 มีบุคคลตอนกิ่งไปขายพันธุ์เพียง 3-4 รายเท่านั้น ครั้นถึงปี พ.ศ.2500-2501 ได้มีกรรมวิธีแพร่พันธุ์เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือการทาบกิ่ง มีการทาบกิ่งเงาะต้นนี้ไปเป็นจำนวนมาก ในระยะเดียวกันนั้น เงาะที่มาจากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส คือเงาะพันธุ์ยาวี เจ๊ะโมง เปเราะ ก็เข้ามาแพร่หลายพอสมควร ประชาชนเห็นว่าเงาะต้นนี้ยังไม่มีชื่อ จึงชักชวนกันเรียกเงาะต้นนี้ว่า “เงาะพันธุ์โรงเรียน” เพราะต้นแม่พันธุ์อยู่ที่โรงเรียนนาสาร

เงาะโรงเรียน ลักษณะ ?

มีลักษณะผลกลมรี เปลือกหนา และมีขนยาว ผลสุกเต็มที่ เปลือกจะมีสีแดงเข้ม ขนส่วนโคนมีสีแดงเข้ม ขนส่วนปลามีสีเขียวอ่อน

ความลับของ”ขนเงาะ”

อันที่จริงแล้ว ขนเงาะนั้นเป็นวิวัฒนาการการปรับตัวของผลไม้เมืองร้อนชื้นนนี้นี่เอง จากการทำให้ผลของตัวเองดูไม่น่ากิน ด้วยการสร้างขนไว้ทั่วผล เพื่อปกป้องเมล็ดที่เปราะบางภายในและหลีกเลี่ยงการถูกกินโดยสัตว์ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้อยู่รอดในระบบนิเวศ เช่นเดียวกับผลไม้อื่น ๆ ที่ได้มีการปรับตัวในแบบเดียวกัน เช่น ทุเรียน ขนุน เป็นต้น

ส่วนในเรื่องของประโยชน์นั้น เงาะ มีสารที่มีชื่อว่า แทนนิน ซึ่งสารตัวนี้สามารถใช้ฟอกหนัง ย้อมผ้า บำบัดน้ำเสีย ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ป้องกันแมลง ทำเป็นปุ๋ย ทำเป็นกาว และทำยารักษาโรค แต่มีโทษคือมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร หากกินเข้าไปมากจะทำให้รู้สึกท้องอืด หรือท้องผูก มีอาการเหมือนกับการดื่มน้ำชา ขณะที่เปลือกผลของเงาะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ด้านคุณค่าทางโภชนาการ การรับประทานเงาะสดสามารถแก้อาการท้องร่วงชนิดรุนแรง ได้ผลดี นอกจากนี้ผลเงาะนำมาต้ม นำน้ำที่ได้มาเป็นยาแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาอาการอักเสบในช่องปาก และโรคบิดท้องร่วง มีข้อควรระวัง คือเม็ดในของเงาะมีพิษแม้ว่าจะเอาไปคั่วจนสุกแล้ว แต่ถ้ารับประทานมากเกินไปจะมีอาการปวดท้อง เวียนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นไม่ควรจะรับประทานเม็ดจะดีที่สุด

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button