ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ วางแผนในการพลักดัน มาตรการรวมหนี้ – รีไฟแนนซ์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในช่วงกลางเดือน ต.ค.
วันนี้ (28 ก.ย. 2564) – ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงค์ชาติ ได้ทำการวางแผนในการพลักดันให้ มาตรการรวมหนี้ – รีไฟแนนซ์ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้
นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. มีแผนที่จะยังผลักดันการดำเนินมาตรการและติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มาตรการที่ออกมาแล้วมีผลในวงกว้าง ในขณะเดียวกันก็มีแนวทางเพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ โดยมีหลักคิด ได้แก่
1.“ไปให้ถึง” โดยเพิ่มการประสานงานเชิงรุกกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการประชาสัมพันธ์มาตรการแก่ลูกหนี้ ตลอดจนรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาในเชิงรุก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและประสิทธิภาพของมาตรการ
2.“ช่วยให้มากที่สุด” ด้วยการออกมาตรการเพิ่มเติมต่อเนื่องตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด โดย ธปท. สนับสนุนการทำรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ ระหว่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เพื่อลดภาระอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้ โดยการห้ามคิดค่าธรรมเนียมชำระเงินกู้คืนก่อนครบกำหนดสำหรับสินเชื่อรายย่อย และให้แรงจูงใจเพิ่มเติมสำหรับการรวมหนี้ รวมถึงร่วมกับกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ออกโครงการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่อาจเข้าถึงความช่วยเหลือผ่านสถาบันการเงินได้ค่อนข้างยาก โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้
3. “ระบบการเงินเดินต่อไปได้” โดยภายใต้ภาวะที่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูง จะต้องเน้นการเลือกใช้มาตรการที่ตรงจุด และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบหรือผลข้างเคียงต่อระบบการเงิน เพื่อให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินยังทำงานได้ตามปกติและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ ขณะที่ไม่ทำให้ลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงและเปราะบางถูกผลักไปอยู่นอกระบบ
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวถึง ความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดย ณ สิ้นเดือน กรกฎาคม 2564 ว่า มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการทั้งสิ้น 5.12 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงิน 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 2.1 ล้านล้านบาท และลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.25 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมลูกหนี้ของสถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงิน ที่เข้ามาตรการเร่งด่วนพักชำระหนี้ คิดเป็นมากกว่า 3 ล้านบัญชี
นอกจากนี้ ธปท.ได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้วทั้งสิ้น 106,156 ล้านบาท ถึงเป้าหนึ่งแสนล้านบาทเร็วกว่ากำหนด โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีและครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 34,538 ราย เฉลี่ยรายละ 3.07 ล้านบาท เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี 44.3% ประกอบธุรกิจการพาณิชย์และบริการ 67.2% และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด 68.4% ในส่วนของโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 15,167 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือ 106 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โรงงาน และสปา
นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า “อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการ 2.83 แสนล้านบาท คิดเป็น 65% ของสินเชื่อธุรกิจโรงแรมและที่พัก ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 61% การช่วยเหลืออื่น เช่น พักชำระหนี้ หรือลดภาระหนี้ระยะสั้น 34% และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ 5% อีกทั้งยังมีการให้สินเชื่อใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่องกว่า 18,000 ล้านบาท”
แหล่งที่มาของข่าว : มติชนออนไลน์ (Matichon)
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ
- สิงห์อมควัน รอลุ้น ครม.เตรียมเคาะภาษีบุหรี่ใหม่วันนี้
- คปภ. คุมเข้ม เอเชียประกันภัย เร่งการจ่ายเงินประกันแก่ลูกค้า