ข่าวข่าวการเมือง

‘ศรีสุวรรณ’ ชี้ อ่างลำเชียงไกรชำรุด เป็นความประมาทร้ายแรง หาผู้รับผิดชอบ

ศรีสุวรรณ โพสต์เฟซบุ๊กถามหาผู้รับผิดชอบจากกรณี อ่างลำเชียงไกรชำรุด ชี้ถือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แนะชาวบ้านฟ้องได้

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กระบุว่า ” นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่สื่อโซเชียลส่งข้อความประกาศเตือนว่าอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรแตก ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายอ่างเร่งขนชองขึ้นที่สูง และต่อมากรมชลประทานได้ออกมาแก้ข่าวว่าอ่างลำเชียงไกรไม่ได้แตก เพียงแต่จุดที่เกิดปัญหานั้น เป็นจุดที่มีการก่อสร้างอาคาร และทางระบายน้ำ ซึ่งยังเป็นส่วนที่ก่อสร้างยังไม่เสร็จ ทำให้น้ำกัดเซาะทำนบดินจนน้ำล้นออกมาเท่านั้น โดยผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างไปได้แล้วร้อยละ 70 นั้น

Advertisements

ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือ น้ำจากอ่างลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ได้ทะลักท่วมพื้นที่ท้ายอ่างไปแล้วหลายพื้นที่ทำให้พื้นที่ท้ายอ่างหลายอำเภอของโคราช อาทิ พระทองคำ ด่านขุนทด โนนไทย โนนสูง พิมาย ต้องเผชิญกับน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ทรัพย์สิน บ้านเรือน พืชผลทางการเกษตรเสียหายเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่มีเสียงจากผู้บริหารของกรมชลประทาน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของจังหวัดนครราชสีมา หรือของรัฐบาล ออกมาแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด

กรณีที่เกิดขึ้นไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้ เพราะหน่วยงานราชการย่อมรู้มาก่อนล่วงหน้าแล้วว่า วันที่ 25-26 ก.ย.จะมีพายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่พาดผ่านพื้นที่หลายจังหวัดในพื้นที่อีสานและภาคเหนือ ดังนั้น กิจกรรมการก่อสร้างอาคารและทางระบายน้ำของอ่างดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณน้ำเหนืออ่างมากกว่า 41.69 ล้าน ลบ.ม.หรือกว่า 150% ต้องรีบเตรียมการเสริมทำนบดินบริเวณไซด์ก่อสร้างมารองรับเสียก่อน

ก่อนที่พายุจะมา แต่ทว่ากลับไม่ปรากฎว่ากรมชลประทานจะได้สั่งให้ผู้รับเหมาเตรียมการดังกล่าวไว้ไม่ ดังนั้น เมื่อเกิดน้ำล้นจนทำให้ทำนบดินที่ทำไว้รอบสปริลเวย์(Spillway)ถูกกักเซาะจนพังทลายแทบทั้งหมด จึงถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ด้วยเหตุดังกล่าว ประชาชนที่อยู่ท้ายอ่างลำเชียงไกร(ตอนล่าง) ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากน้ำท่วมอันมีผลมาจากน้ำทะลักมาจากอ่างลำเชียงไกร(ตอนล่าง) สามารถเรียกร้องขอค่าชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เป็นจริงทั้งหมดได้จากกรมชลประทานได้ โดยหลังจากที่น้ำหายท่วมแล้ว สามารถทำหนังสือหรือแจ้งความจำนงค์ไปที่กรมชลประทานโดยตรงหรือแจ้งผ่านตัวแทนหน่วยงานราชการในท้องที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ภายใน 90 วันนับแต่รู้ว่าทรัพย์สินเสียหาย

ทั้งนี้ กรมชลประทานหรือรัฐบาลจะนำเงินภาษีของประชาชนคนทั้งประเทศมาจ่ายชดเชยให้กับชาวบ้านดังกล่าวไม่ได้ หากแต่ต้องไปไล่เบี้ยเอากับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งหมดตั้งแต่อธิบดียันเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงจะชอบ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด”

Advertisements

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button