หมอยง มุ่งมั่น ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ มั่นใจต่างชาติศึกษาไม่ทัน
หมอยง เผยมุ่งมั่นศึกษาวิจัยการ ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เชื่อต่างชาติศึกษาไม่ทัน พร้อมตัดพ้อจนอยากเลิกแบ่งปันความรู้ หลังถูกทักท้วงบ่อยครั้ง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก กล่าวถึง การศึกษาวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติจริง ของการสลับชนิดของวัคซีน ว่าทางศูนย์ได้มุ่งมั่นทำการศึกษาวิจัย
ทางศูนย์ได้มุ่งมั่นทำการศึกษาวิจัย โดยทีมนักวิทยาศาสตร์และคณะแพทย์มากกว่า 30 ชีวิตที่ทำอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง covid 19 vaccine ที่มีโครงการทำอยู่มากกว่า 5 โครงการ เพื่อนำมาใช้อย่างเร่งด่วนในประเทศไทยให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่
การสลับชนิดของวัคซีน เราทำมาโดยตลอดและเห็นว่า การให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัส Vector จะกระตุ้นได้ดีมาก
การให้วัคซีนเชื้อตายที่เป็นทั้งตัวไวรัส เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทาน เมื่อกระตุ้นด้วยต่างชนิดโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์ จึงเกิด
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า booster effect เหมือนกับคนที่หายแล้วจากโรคโควิด 19 และได้รับวัคซีนเสริมอีก 1 ครั้ง ก็จะมีการกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็ได้ทำการทดลองแล้ว
การศึกษานี้เราไม่ได้ทำเฉพาะการตรวจวัดภูมิต้านทานเท่านั้น เรายังได้ทำภาวะขัดขวางไวรัส inhibition test ที่สามารถขัดขวางได้ดีมาก เฉลี่ยถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และมีหลายรายถึง 99 เปอร์เซ็นต์
ในทำนองเดียวกันการให้เชื้อตาย 2 เข็ม ยิ่งสอนให้ร่างกายเหมือนกันติดเชื้อจริงแบบเต็มๆ หรือแบบรุนแรง แล้วเมื่อมากระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัส Vector จึงมี Booster effect ที่สูงมาก
การศึกษาวิจัยของเราไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรากำลังทำการศึกษากับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ delta และระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่เรียกว่า T cell หรือ CMIR
แน่นอนการศึกษานี้ ฝรั่งไม่ทันแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตาย และจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้
ข้อมูลขณะนี้ผมมีเป็นจำนวนมาก มากพอที่จะสรุป เพราะทุกท่านให้ความร่วมมือดีมาก รวมทั้งอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษา เป็นจำนวนมาก ผมต้องขอขอบคุณอย่างยิ่ง
ข้อดีที่ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขยอมรับ และนำมาปรับใช้ในเชิงนโยบายจากการศึกษานี้
1 ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานที่สูงภายในเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเร็วกว่าการให้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทยที่จะได้ภูมิต้านทานสูง ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ เหมาะสมกับการที่โรคกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ซึ่งเรารอไม่ได้
2 เป็นการปรับใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ขณะนี้ที่จำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด
3 การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย virus Vector สามารถทำได้ให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงมาก โดยไม่ต้องรอวัคซีนชนิดอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคลากรทางการแพทย์
ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกในบันทึกในหมอพร้อมมีมากกว่า 1, 200 ราย โดยที่ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด
ผมเองท้อใจหลายครั้งที่ไม่อยากจะมาโพสต์ให้ความรู้ และมีการหยุดเป็นครั้งคราว แต่ก็มีผู้ทักท้วงมาเป็นจำนวนมาก ว่าถ้าหยุดก็จะเข้าทางของผู้ไม่หวังดี ผมเองมุ่งทำการศึกษาวิจัยมาเกือบ 40 ปี เพื่อให้ความรู้กับชาวโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย เพราะเผยแพร่ในวารสารนานาชาติมาตลอด
สังคมไทยในภาวะวิกฤตแบบนี้ แทนที่จะร่วมมือกัน สามัคคี แต่กลับเป็นพยายามที่จะพูดจาถากถาง ดึงเข้าสู่การเมือง ในบางครั้งมีการกล่าวหาที่เลื่อนลอย และไม่เป็นความจริง
มีหลายคนเสนอให้ กฎหมายเข้ามาจัดการ ผมเองไม่เคยไปสนใจอ่านเลยไม่เดือดร้อน แต่ที่เดือดร้อนมากกลับเป็นลูกศิษย์ที่ยังเคารพอาจารย์ ส่วนลูกศิษย์ที่ไม่เคารพก็ไม่เป็นไรผมไม่เคยถือ และขณะนี้ ก็ได้มีการจับแล้ว 1 คน และจะคงมีรายต่อๆไป โดยที่ผมจะยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด ขอให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง เพราะบ้านเมืองมีกฎหมายที่ทุกคนต้องเคารพ และจริยธรรม ที่ต้องให้เกียรติกันและกัน
- WHO ไม่แนะนำ ฉีดวัคซีนโควิดแบบผสม ชี้ไม่มีผลทดลองเพียงพอ
- ดังทั่วโลก! อ.จุฬา เผยไทยเป็นชาติแรกใช้สูตร ซิโนแวค+แอสตราเซเนกา
- เคาะ ฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด แอสตราเซนเนก้า เข็ม 2 แทน ซิโนแวค