คลัง รายงานผล มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ในช่วง โควิด-19 ระลอกใหม่
กระทรวงการคลัง ได้ทำการประชุมรายงานผลการดำเนินการ มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่
มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน, โควิด-19 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อประชาชน เกษตรกร และการดำเนินธุรกิจ
โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในภาคส่วนอื่นประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ
- รับทราบผลการดำเนินงานของมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institutions: SFIs)
- เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่
เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และขยายเวลาการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น รวมถึงแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ผลการดำเนินงานของมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่าน SFIs
- มาตรการพักชำระหนี้ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2564 SFIs ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการพักชำระหนี้ ด้วยการพักชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ย และ/หรือ ลดอัตราดอกเบี้ย และ/หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้แล้ว รวมทั้งสิ้น 7.56 ล้านราย วงเงิน 3.46 ล้านล้านบาท
- โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 3.23 ล้านราย วงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
- ประชาชนทั่วไป 3.21 ล้านราย วงเงิน 1.18 ล้านล้านบาท และธุรกิจ 21,310 ราย วงเงิน 87,948 ล้านบาท
- โดยกระทรวงการคลังได้ขอให้ SFIs ขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
- โดยมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการ 3.23 ล้านราย วงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
- มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ นอกจากมาตรการพักชำระหนี้แล้ว ยังมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) และมาตรการสินเชื่อของ SFIs อีกหลายมาตรการที่ยังมีวงเงินคงเหลืออยู่
- เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ ประชาชนทั่วไป ธุรกิจรายย่อย SMEs โดยครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่
- ขยายเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
- สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
- วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี
- โดยขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
- ปรับปรุงการดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย
- วงเงิน 5,000 ล้านบาทของธนาคารออมสิน สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี
- โดยขยายระยะเวลากู้จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นจากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
- ขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ของธนาคารออมสิน สำหรับผู้ประกอบการ
- ที่ใช้หลักประกันเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและไม่ต้องผ่านการตรวจเครดิตบูโรวงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท
- ดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 0.99 และ 5.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี
- โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs
- ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น พร้อมทั้งขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเพียงพอ โดยได้มีการติดตามผลการดำเนินมาตรการอยู่เป็นระยะ
รวมถึงพิจารณาข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคของการดำเนินมาตรการ รวมทั้งได้ปรับปรุงและออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีต่อไป
แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – สถานีข่าวกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance News Station
สามารถติดตามข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวเศรษฐกิจ
- อัปเดตล่าสุด คนละครึ่งเฟส 3 เริ่ม 1 ก.ค. ไม่เลื่อน ยังเหลือ 2 ล้านสิทธิ์
- กทม. เผย โรงรับจำนำ ในสังกัด ลดดอกเบี้ยในช่วงโควิด-19