Home Isolation คืออะไร สรุปทุกขั้นตอน กักตัวที่บ้าน ก่อนปฏิบัติจริง
เว้นที่ให้ผู้ป่วยหนัก แนะนำวิธีปฎิบัติตัวผู้ป่วยโควิด19 เมื่อจำเป็นต้อง กักตัวที่บ้าน ( Home Isolation) โดยอธิบดีกรมการแพทย์
ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ที่ลามหนักถึงขั้น เตียงผู้ป่วย และ โรงพยาบาล บางแห่ง มีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการรักษา ตลอดจนรองรับผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนัก
เหตุนี้ กรมการแพทย์ จึงได้วางแนวทางการกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่อาการไม่หนัก หรือ ไม่แสดงอาการ
โดยมีการแนะนำขั้นตอนการ “กักตัวที่บ้าน” หรือ Home Isolation สำหรับ กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ อ้างอิงข้อมูลจาก นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์
Home Isolation คืออะไร ?
การดูแลตัวเองจากที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ที่อาการไม่รุนแรง โดยกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ จะอยู่ในการประเมินและควบคุมของแพทย์
หลักเกณฑ์ กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ ที่สามารถกักตัวที่บ้าน ได้ มีดังนี้
– ต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีอาการ
– มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
– ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.)
– ที่สำคัญที่สุด ไม่ป่วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
– ผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด
ขั้นตอนปฏิบัติตัว ระหว่าง กักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
1. ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว
2. ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
3. แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
4. หลีกเลี่ยงการทานอาหารร่วมกัน หากต้องทานอาหารร่วมกัน ควรแยกรับประทานของตนเอง ไม่ทานร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน รักษาระยะห่างระหว่างกัน อย่างน้อย 2 เมตร
5. สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่ออกจากที่พัก
6. ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ
*** สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน
หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ และเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว
ไม่ใช้รถสาธารณะ พร้อมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศเพื่อความปลอดภัยแต่คนรอบข้าง
สำหรับแนวทาง การดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่ม Home Isolation นั้น จะอยู่ในกรอบ การพิจารณาของแพทย์
มีระบบการตรวจสอบ ติดตามอาการ หากอาการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีระบบส่งต่อไปรักษาตัวยัง รพ. โดยแนวทางดังกล่าวเริ่มดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. เฉพาะพื้นที่ กรุงเทพมหานคร
อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมการแพทย์
ภาพจาก : Ri Butov from Pixabay
วางแผนทางการเงินเมื่อป่วยโควิด สนใจทำประวัติโควิด-19 กับ Tadoo คลิกที่นี่
- อนุทิน เร่งเพิ่มเตียงโควิด คาด ส.ค. ผลิต ยาฟาเวียร์ ใช้เอง
- ฉะยับ! ไลฟ์โค้ชแนะร้านอาหารยิ้มสู้โควิดหลังถูกล็อกดาวน์
- วุ่น! จนท.แพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ติด โควิด
- โควิด-19 29 มิ.ย. 64 ยอดป่วยทั่วโลก 182 ล้านราย