ข่าว

ส่อง! ประวัติความเป็นมา ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’

ในวันนี้ TheThaiger จะมาดูกันถึงประวัติความเป็นมาของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันการวิจัย และวิชาการขั้นสูง ทางด้านการแพทย์, วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ได้รับความสนใจในเวลานี้

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือ สถาบันการวิจัย และวิชาการขั้นสูง ที่มีหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่การวิจัยไปถึงสถาบันอุดมศึกษา โดยทำการศึกษาทางด้านวิชาการ และวิชาชีพภายในประเด็นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และการสาธารณสุข

Advertisements

มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย สร้าง ประมวล ประยุกต์ ส่งเสริม เผยแพร่ พัฒนา จัดการศึกษาและผลิตบุคลากรในระดับสูง เพื่อสร้างองค์ความรู้ เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และการสาธารณสุข ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

โดยสถาบันนี้ เป็นการรวมหน่วยงานภายใต้มูลนิธิจุฬาภรณ์ 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล ซึ่งโดยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีพระวินิจฉัยเห็นชอบให้รวมหน่วยงานทั้งสามดังกล่าว และพระราชทานนามดังกล่าวให้

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 พระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 ซึ่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ลงมติในวาระรับหลักการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 และได้ลงมติในวาระ 3 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ด้วยคะแนน 151-0 เสียงโดยได้ประกาศลงใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559

ในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งได้กำหนดให้แยกสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ออกจากราชวิทยาลัยและยังให้อยู่ภายใต้มูลนิธิจุฬาภรณ์ตามเดิม จึงได้ตัดกรรมการสภาราชวิทยาลัยที่มาจากสัดส่วนของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ออกด้วย อีกทั้งกำหนดให้อาจมีตำแหน่ง ประธานราชวิทยาลัย เพื่อให้สภาราชวิทยาลัยขอรับคำแนะนำและคำปรึกษาในกิจการทั้งปวงตามวัตถุประสงค์ของราชวิทยาลัย และประธานราชวิทยาลัยจะแต่งตั้ง รองประธานราชวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่ตามที่มอบหมายก็ได้

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกอบไปด้วย 3 ส่วนงานด้วยกันดังนี้

Advertisements
  • สำนักงานราชวิทยาลัย
  • สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์
  • วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

พันธกิจของสถาบัน

  • จัดการศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตที่เป็นผู้นำและนักวิจัย ทางวิชาชีพด้านสุขภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการแพทย์ การสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
  • วิจัย สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการแพทย์ การสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สามารถชี้นำและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและสังคม
  • ให้บริการวิชาการ และวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นเลิศ และเป็นธรรมแก่สังคมด้วยความเสมอภาพและไม่เหลื่อมล้ำ
  • บริหารจัดการให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาต่อเนื่องยั่งยืนให้เป็นสถาบันที่เป็นเลิศในระดับสากล
  • สืบสานและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ศาสนา ศีลธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • สืบสานพระปณิธานในการช่วยเหลือประชาชน ด้วยความเพียรและจิตเมตตา

อำนาจหน้าที่ของสถาบัน

พระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๖ กำหนดให้ราชวิทยาลัยเป็นสถาบันการวิจัยและวิชาการชั้นสูงและจัดการศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์และการสาธารณสุขมีวัตถุประสงค์ในการวิจัย สร้าง ประมวล ประยุกต์ ส่งเสริม เผยแพร่ พัฒนาจัดการศึกษาและผลิตบุคลากรในระดับสูง เพื่อสร้างองค์ความรู้ เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และการสาธารณสุขให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

มาตรา ๗ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๖ ให้ราชวิทยาลัยคำนึงถึง

  1. ความมีคุณธรรมและจริยธรรม
  2. ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา
  3. ความเป็นเลิศและความมีเสรีภาพทางวิชาการมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
  4. ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อรัฐและสังคม
  5. ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการ
  6. การบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในราชวิทยาลัย

 

แหล่งที่มาของข่าว : เว็บไซต์ CRA-ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ / Wikipedia

สามารถติดตามข่าวทั่วไปเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวทั่วไป

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button