ทดสอบ ‘อาการโควิด’ ด้วยวิธีลุกนั่ง เช็ค ‘ออกซิเจนในเลือด’
สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย เปิดเผยแนวทางการทดสอบ อาการโควิด อีกทางหนึ่ง โดยใช้วิธีการลุกนั่ง เพื่อทำการเช็คค่าออกซิเจนในเลือด
นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทำการเปิดเผยแนวทางการทดสอบ อาการโควิด อีกแนวทางหนึ่ง
โดนวแนวทางการทดสอบที่ว่านี้ก็คือการทำการออกกำลังด้วยการลุกนั่ง เพื่อทำการตรวจวัดภาวะออกซิเจนต่ำในเลือด ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอาการบ่งชี้ถึงการติดเชื้อโควิด-19
ในเชิงรายละเอียดนั้นมีด้วยกันดังนี้
ผู้ป่วยโควิด-19 อาจเกิดปอดอักเสบ (COVID pneumonia) ได้ตลอดการดำเนินโรคช่วง 2 สัปดาห์แรก จึงมีความจะเป็นที่จะต้องตรวจจับให้ได้เร็วสำหรับการวินิจฉัยปอดอักเสบ หรือตรวจจับปอดอักเสบที่ต้องให้การรักษารด้วยยาสเตียรอยด์ร่วมกับยาต้านไวรัส เพื่อลดการลุกลามของโรคไม่ให้เกิดความรุนแรงจนเกิดภาวะวิกฤต
การทดสอบภาวะออกซิเจนต่ำในเลือดขณะออกกำลัง (exercise-induced desaturation, EID) ด้วยการลุกนั่ง (sit-to-stand test, STST) ได้มีการทดสอบแล้วว่ามีความสัมพันธ์ดีกับ six-minute walk test ในผู้ป่วย COPD จึงได้นำมาประยุกต์ใช้
ข้อบ่งชี้
- คัดกรองผู้ป่วยปอดอักเสบโควิดในโรงพยาบาลหลัก ที่ยังไม่มี resting hypoxemia (SpO2 < 96%) เพื่อให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์
- คัดกรองผู้ป่วยในโรงพยาบาลเฉพาะกิจ (hospitel) หรือโรงพยาบาลสนาม ที่ไม่พบปอดอักเสบโควิดในตอนแรก แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ในระหว่างการติดตามการดำเนินโรคจนครบ 14 วัน เพื่อทำการประเมินใหม่โดยแพทย์พร้อมการเอกซเรย์ปอด
ข้อห้าม
- สัญญาณชีพไม่คงที่ (BT > 38.5, RR > 22, SBP > 160 or < 100, HR > 120 or < 50)
- ทรงตัวได้ไม่ดีขณะลุกนั่ง
อุปกรณ์
- เก้าอี้ที่แข็งแรงชนิดมีพนักพิงหลัง แต่ไม่มีที่เท้าแขน ความสูงจากที่นั่งถึงพื้น 40-50 ซม.
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (pulse oximeter) ควรมีจอแสดงผลให้เห็นค่า SpO2 และ HR ได้ชัดเจนโดยบุคลากรที่อยู่ด้านนอกโซนผู้ป่วย ทั้งการดูโดยตรงหรือผ่านกล้องถ่ายทอด
วิธีการ
- ให้ผู้ป่วยถอดหน้ากากอนามัยออก ยืนเท้าเอวและวางมือสองข้างไว้ที่สะโพก โดยสวมเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วตลอดการทดสอบ
- เมื่อผู้ทดสอบพูดว่า “เริ่ม” ให้ผู้ป่วยนั่งเต็มก้นลงบนเก้าอี้แล้วลุกขึ้นยืนตรงทันทีโดยไม่ใช้มือดันเก้าอี้ และกลับไปนั่งเต็มก้นอีกครั้ง ทำซ้ำให้เร็วที่สุดเท่าที่ได้ใน 1 นาที (ควรได้ 20-30 ครั้งใน 1 นาที) โดยผู้ป่วยกำหนดความเร็วที่ปลอดภัยและไม่หักโหมด้วยตนเอง ผู้ทดสอบตรวจสอบให้ผู้ป่วยนั่งให้เต็มก้นโดยข้อเข่าทำมุม 90 องศาและลุกขึ้นยืนตรงจนสุดตลอดการทดสอบ
- ให้สิ้นสุดการทดสอบก่อนครบ 1 นาที ถ้าผู้ป่วยเหนื่อย หรือ HR > 120 หรือ SpO2 ลดลงจากเดิม 3% ขึ้นไป (desaturation) โดยที่ค่านั้นต่ำจริงเมื่อเครื่องวัดและแสดงผลติดกัน 2-3 ครั้ง (เครื่องจะวัดและแสดงผลราวทุก 3 วินาที)
- เมื่อสิ้นสุดการทดสอบหลังครบ 1 นาที ให้วัด SpO2 ต่อไปอีก 1 นาที ถ้ายังไม่พบ desaturation ให้ถือว่าการทดสอบเสร็จสมบูรณ์
แหล่งที่มาของข่าว : สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สามารถติดตามข่าวโควิด-19 เพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวโควิด-19