ข่าว

ม.มหิดล วิจัยเชิงนโยบาย ปรับนิยาม ผู้สูงอายุ – ขยาย อายุแรงงาน

ม.มหิดล ทำการวิจัยเชิงนโยบาย ปรับนิยาม ผู้สูงอายุ – ขยาย อายุแรงงาน เพื่อรองรับสถานการณ์ภาวะทางประชากรที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

ผู้สูงอายุ อายุแรงงาน – วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือการเป็น Active Aging หรือ “สูงวัยอย่างมีพลัง” ปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงทำงานพึ่งพาตนเอง เป็นการทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการได้ทำงาน อยู่อย่างมั่นคง และมีคุณค่า แต่กลับพบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาผู้สูงอายุไทยทำงานน้อยลงเรื่อยๆ

Advertisements

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (IPSR) เปิดเผยว่า ผลจากงานวิจัยของสถาบัน IPSR พบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน มีจำนวนถึงประมาณ 12 ล้านคน หรือร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด มีอัตราการทำงานเพียงประมาณ 1 ใน 3 โดยมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ หลังเกษียณ หรืออายุ 60 ปีขึ้นไปในวัยผู้สูงอายุ

ตามการนิยามผู้สูงอายุของไทย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากมโนคติที่ว่า เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว ถึงเวลาหยุดทำงานมาใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่กับลูกหลาน โดยมีรายได้หลักเพียงจากทรัพย์สินที่ตนออมไว้ และการเกื้อกูลจากลูกหลานในครอบครัว หรือเงินบำเหน็จบำนาญ เฉพาะในกลุ่มข้าราชการ พนักงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ประกันตน ประกันสังคมที่เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ ซึ่งมีจำนวนไม่มาก

แต่ด้วยภาวะทางประชากรที่เปลี่ยนไป พบว่าประชากรไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานิยมเป็นโสด แต่งงานและมีลูกกันน้อยลง จนส่งผลให้มีจำนวนอัตราการเกิดที่ต่ำลงด้วย จึงทำให้ผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมั่นคงด้วยเพียงการเกื้อหนุนจากลูกหลานเป็นหลักเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีความมั่นคงทางรายได้ จะทำให้เกิดพลังชีวิต หรือ Active ลดลง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตอีกด้วย

ในจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย เพียงร้อยละ 10 เป็นแรงงานในภาครัฐ การขยายอายุเกษียณควรขึ้นอยู่กับบริบทการทำงานในแต่ละกลุ่มประชากร จะแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะงาน โดยที่ผ่านมาพบว่ามีข้าราชการเพียง 2 กลุ่มที่ได้รับการขยายอายุเกษียณ คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย และข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม

ซึ่งได้รับความมั่นคงจากระบบบำเหน็จ-บำนาญ นอกจากนั้นอยู่ในภาคเอกชนซึ่งได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม และที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองการทำงานในรูปแบบใดๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว และแรงงานภาคเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในสัดส่วนจำนวนมากในปัจจุบัน

Advertisements

จากการวิจัยประชากรในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านมา มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ได้ให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย เพื่อให้มีการปรับนิยามผู้สูงอายุ กำหนดกลุ่มเป้าหมายของการขยายอายุเกษียณ และการให้การคุ้มครองการทำงานที่ชัดเจน

จากข้อมูลทางด้านสุขภาพพบว่า กลุ่มประชากรที่อยู่ในวัย 60 – 64 ปียังคงมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง ตลอดจนมีความพร้อมทางด้านสติปัญญา และมากด้วยประสบการณ์ ถือเป็น Active Aging ซึ่งมีศักยภาพที่จะทำงานตามเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต่อไปได้

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจได้ที่ www.mahidol.ac.th Facebook: Mahidol University

 

สามารถติดตามข่าวทั่วไปเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวทั่วไป

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button