ข่าวข่าวธุรกิจเศรษฐกิจ

คลัง เผย มาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการธุรกิจ จาก โควิด-19

กระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู / มาตรการช่วยเหลือ แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

มาตรการช่วยเหลือ – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เริ่มต้นในปี 2563 ยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้เร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านมาตรการเสริมสภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้

Advertisements

ซึ่งรวมถึงการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 เมษายน 2564

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงมีความรุนแรง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ภาคธุรกิจมีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) เพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจในการเข้าถึงสภาพคล่องและแหล่งทุน

ปัจจัยดังกล่าวประกอบกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้ทำให้ความรุนแรงของผลกระทบและความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป โดยผู้ประกอบธุรกิจในบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงและคาดว่าอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว เช่น กรณีผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

ซึ่งผลสำรวจของผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization : UNWTO) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 พบว่า ร้อยละ 42 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะกลับมาสู่ระดับเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 อย่างเร็วที่สุดในปี 2567 เป็นต้น

ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ได้อย่างตรงจุดและเพียงพอ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวยังไม่สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพแต่ยังคงมีภาระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans : NPLs) เลิกกิจการถาวร ขายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหรือถูกยึดทรัพย์สินดังกล่าวและขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale)

Advertisements

ภาครัฐจึงมีความจำเป็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องออกมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มเติมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อให้ภาครัฐสามารถปรับปรุงเงื่อนไขการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจใด้อย่างทันการณ์ เหมาะสม และเพียงพอกับสภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงได้ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

ซึ่งการดำเนินดังกล่าวจะเป็นการป้องกันมิให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องและปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจลุกลาม ผ่านกลไกการจ้างงานและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อันจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

ซึ่งยากต่อการแก้ไขในภายหลัง และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อให้หน่วยงานที่ข้องสามารถดำเนินมาตรการได้และให้การดำเนินมาตรการบรรลุวัตถุประสงค์

คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 จึงได้เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนดำเนินการตามกระบวนการตรากฎหมายต่อไป โดยมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจสามารถสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบไปด้วย 2 มาตรการ ได้แก่

  • มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีพื้นฐานดีแต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมผ่านกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดให้มีกลไกค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุดร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ตลอดสัญญาได้

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักทรัพย์ค้ำประกันจากการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เหลือร้อยละ 0.01 เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

  • มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท

มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้กำหนดกลไกในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราวและไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale) ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันที่โอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินกู้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน และมีข้อตกลงให้สิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันนั้นกลับคืนในภายหลังตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด

ซึ่งรวมถึงราคาที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงิน โดย ธปท. จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถขายทรัพย์สินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินรายเดิมในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป

นอกจากนี้ สถาบันการเงินสามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงระยะเวลามาตรการได้อีกด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันให้สถาบันการเงิน และจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันในกรณีที่ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงินเพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

โดยทั้ง 2 มาตรการมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี โดยคณะรัฐมนตรีสามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้

กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวันนี้ จะสามารถยกระดับการช่วยเหลือฟื้นฟูให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ทุกกลุ่มได้อย่างตรงจุดและเพียงพอ

รวมถึงมีความยืดหยุ่นทำให้ภาครัฐสามารถปรับปรุงเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยกฎหมาย จะเป็นกลไกหลักของภาครัฐในการรักษาการจ้างงาน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถป้องกันปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในระบบสถาบันการเงินได้

นอกจากนี้ ยังถือเป็นแนวทางสำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – สถานีข่าวกระทรวงการคลัง

สามารถติดตามข่าวธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวธุรกิจ

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button