กอ.รมน. แถลง ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ สยามไบโอไซเอนซ์
กอ.รมน. ออกมาโพสต์ข้อความแถลง ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ สยามไบโอไซเอนซ์ หลังจากที่ถูกนาย ธนาธร วิพากษ์วิจารณ์และพาดพิงในช่วงที่ผ่านมา
เพจเฟซบุ๊ก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 1 ได้ออกมาโพสต์ข้อความโต้ตอบ นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ออกมาวิพากษณ์วิจารณ์ถึงการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล พร้อมระบุเจาะจงถึง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์
โดยทางเพจได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริงถึงบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ พร้อมระบุว่า
1. สยามไบโอไซเอนซ์ เกิดจากอาจารย์หมอจากมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอให้สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาทำ (โดยสำนักทรัพย์สินฯ ออกทุนทั้งหมด) และมีคณะแพทย์ฯ ศิริราช เป็นหุ้นส่วนฝ่ายการวิจัยและพัฒนา
2. มีการดึงทีมบริหารจาก SCC มาช่วยสยามไบโอไซเอนซ์ เนื่องจากต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีการผลิต “ยาชีววัตถุ” ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีเทคโนโลยีชั้นสูงแบบนี้มาก่อน
3. ต้องแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติม เพราะเป็นเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ จึงร่วมกับ CIMAB รัฐวิสาหกิจของคิวบา เพราะเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของโลก ในอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
4. จากนั้น ขยายการร่วมทุนตั้งบริษัทเอบินิส แยกมา ทำโรงงานผลิต เพื่อป้อนยาชีววัตถุให้กับคิวบา และการส่งออกไปต่างประเทศ ด้วยสัดส่วนการลงทุน 70/30 (สยามไบโอไซเอนซ์/คิวบา)
5. โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ได้มาตราฐานสูงมาก ทั้ง PIC/S และ GMP เป็นโรงงานที่ไม่มีการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม (Zero Emission)
6. วิจัยยาชีววัตถุสำเร็จแล้ว 6 รายการ และได้รับการรับรองแล้ว 2 รายการ มีสายการผลิตอยู่ที่ 1 ล้านโดสต่อปี ตอบสนองความต้องการยาภายในประเทศได้ 1/4 ประหยัดงบประมาณการซื้อยาจากต่างประเทศได้ 50% (หรือ 3,000 ล้านบาทต่อปี) แต่สยามไบโอไซเอนซ์เอง “ขาดทุน” 70 ล้านบาทต่อปี
7. การผลิตวัคซีนโควิด (ความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับไทย) โดยฝ่ายอังกฤษเป็นผู้เลือกเอง เพราะเขามีฐานการวิจัยและการอุดหนุนจากองค์การอนามัยโลกอยู่แล้ว รัฐบาลไทยไม่มีหน้าที่ชี้นำใดๆ
8. ปัจจัยสำคัญในการ “เลือกโรงงาน” ของสยามไบโอไซเอนซ์ น่าจะเป็นเพราะว่าต้องเลือกโรงงานที่ทันสมัยที่สุด และมี ความพร้อมในการผลิตสูงที่สุด
9. รัฐบาลอนุมัติงบ 6 พันล้าน เป็นการจัดซื้อจัดหาจากแอสตราเซนเนกา และสยามไบโอไซเอนซ์แค่รับจ้างผลิตให้แอสตราเซนเนกา ไม่ได้รับจ้างรัฐบาลไทย
10. ความร่วมมือระหว่างแอสตราเซนเนกา กับรัฐบาลไทย เป็นความร่วมมือในการวิจัย-การผลิต-การถ่ายทอดองค์ความรู้ อันนี้เป็น “ผลพลอยได้” นอกเหนือจากการทำสัญญาซื้อวัคซีน (ที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงยาที่ผลิตเองในประเทศ ราคาถูก และไทยก็จะมีความมั่นคงด้านวัคซีนในอนาคต และสามารถเป็นฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาคนี้อีกด้วย)