สภาพัฒน์เผย ‘แม่วัยใส’ ในไทยลดลง แต่บางพื้นที่ยังน่าห่วง
สภาพัฒน์เผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2563 พบว่า แม่วัยใส ในประเทศไทยมีอัตราลดลง แต่ในภาคเหนือและใต้ยังคงเยอะอยู่
แม่วัยใส – สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยผ่านรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2563 ว่าความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ มิติคุณภาพของคน อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผู้มีงานทำก็มีชั่วโมงการทำงานลดลง หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
และด้านสุขภาพ พบว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง มิติความมั่นคงทางสังคม คดีอาญาลดลง การเกิดอุบัติเหตุทางบกลดลง มิติด้านความเป็นอยู่และพฤติกรรมของคน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง
นอกจากนี้ยังนำเสนอสถานการณ์ปัญหาแม่วัยรุ่นในประเทศไทยที่พบว่ายังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ในระดับหนึ่ง
อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นไทยอายุ 15-19 ปี พบว่าภาพรวมลดลงจาก 51 คน ต่อประชากร 1,000 คน ในปี 2558 เหลือ 23 คน ต่อประชากร 1000 คน ในปี 2562 และในจำนวนนี้มีแม่ที่อายุน้อยกว่า 15 ปี อยู่จำนวน 0.8%
ทว่าในภาคเหนือและภาคใต้ ยังคงมีจำนวนที่สูงอยู่ โดยในภาคเหนือ อัตราการมีบุตร 42 คน ต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ภาคใต้ อัตราการมีบุตร 35 คน ต่อประชากร 1,000 คน
ซึ่งจากสถิติชี้ว่าแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และจบการศึกษาเพียงชั้นประถม หากพวกเขาสามารถยกระดับฐานะและการศึกษาของตัวเองได้ ก็จะทำให้ปัญหาแม่วัยใสลดลง
นอกจากนี้ปัญหาการมีบุตรของแม่วัยใส ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้วย เช่น ภาวะเลือดจางในหญิงตั้งครรภ์, ภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะซึมเศร้าหลังการคลอดบุตร ในขณะที่ตัวของทารกเองก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากภาวะครรภ์เป็นพิษ, มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ และส่งผลต่อสมอง
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เช่นกัน เพราะแม่วัยใสจะไม่สามารถหลุดพ้นวัฐจักรความจนได้ (ไม่ได้ศึกษาต่อ ส่งผลให้รายได้ที่น้อยตามระดับการศึกษาที่น้อย รายได้ไม่เพียงพอให้เลี้ยงดูบุตรได้เหมาะสม เกิดความเครียด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการส่งต่อโอกาสในการเรียนต่อในระดับสูงของเด็ก)
ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่สัมฤทธิ์ผลที่สุดคือ ต้องเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังและติดตามเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่มีความเปราะบาง กลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างครอบครัวและโรงเรียน, การสร้างค่านิยมเรื่องเพศสัมพันธ์ที่มีสุขภาวะและการป้องกันการท้องไม่พร้อม, การสอดแทรกการสอนเรื่องทักษะชีวิตและผลที่ตามมาของการท้องไม่พร้อมให้เด็กได้รับรู้ และการรักษาการคงอยู่ในระบบการศึกษาของวัยรุ่นซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาดังกล่าว