สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เสียชีวิตแล้ว
สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เสียชีวิตแล้ว
สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคมะเร็งตับ ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 67 ปี
ประวัติ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ชื่อเล่น ปึ้ง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อดีตประธานกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร อดีตประธานที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นญาติของดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสุมาลี โตวิจักษณ์ชัยกุล น้าของสุรพงษ์ แต่งงานกับเสถียร ชินวัตร อาของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เคยสมรสกับอัญชลี โตวิจักษณ์ชัยกุล มีบุตร 2 คน คือ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล และศุภิสรา โตวิจักษณ์ชัยกุล
สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 5 จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยยังทาวน์สเตท รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา และปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแห่งแอเคริน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มีน้องชายชื่อ สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา เขาได้รับการประกันตัวในวันดังกล่าวด้วยวงเงิน 5 ล้านบาท โดยศาลมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ
งานการเมือง
ร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์
สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลเริ่มเข้าสู่งานการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน พ.ศ. 2529 สังกัดพรรคกิจสังคม แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 และได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดเดิม แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย
จากนั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 ดร.สุรพงษ์ยังคงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิม แต่ย้ายมาลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 41 แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ดร.สุรพงษ์ ได้มีบทบาทสำคัญในการอภิปรายโจมตี ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย – พลังประชาชน – เพื่อไทย
ต่อมา ดร.สุรพงษ์ ย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2549 ภายหลังรัฐประหารและพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค จึงย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน และ ดร.สุรพงษ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 ในนามพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น รวมถึงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร
ต่อจากนั้นได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 20 ของพรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง
อนึ่ง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่วมลงนามถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษแก่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2552
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 เขาได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. แทนพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 4[18] แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย มหาวชิรมงกุฏ (ม.ว.ม.)
ที่มา: วิกิพีเดีย