สวัสดีเริ่มใช้เมื่อไหร่? มีที่มาจากไหน?
สวัสดี เป็นคำทักทายของคนไทย โดยจะใช้เมื่อแรกพบกัน หรือ เมื่อต้องการบอกลา โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “สวัสดี (สวัสดิ์) ” ว่าหมายถึง ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง และความปลอดภัย การอวยชัยให้พร
ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี” คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยพิจารณามาจากศัพท์ “โสตฺถิ” ในภาษาบาลี หรือ “สวัสติ” ในภาษาสันสกฤต โดยได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม เป็นต้นมา
“สวัสดี” เป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า “สุ” เป็นคำอุปสรรค (คำเติมหน้าศัพท์ที่ทำให้ความหมายของศัพท์เปลี่ยนแปลงไป) แปลว่า ดี งาม หรือ ง่าย และคำว่า “อสฺติ” เป็นคำกิริยาแปลว่า มี แผลงคำว่า “สุ” เป็น “สว” (สฺวะ) ได้โดยเอา “อุ” เป็น “โอ” เอา “โอ” เป็น “สฺว” ตามหลักไวยากรณ์ แล้วสนธิกับคำว่า “อสฺติ” เป็น “สวสฺติ” อ่านว่า สะ-วัด-ติ แปลว่า “ขอความดีความงามจงมี (แก่ท่าน)”
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้ปรับเสียงของคำว่า “สวสฺติ” ที่ท่านได้สร้างสรรค์ขึ้นให้ง่ายต่อการออกเสียงของคนไทย จากคำสระเสียงสั้น (รัสสระ) ซึ่งเป็นคำตาย มาเป็นคำสระเสียงยาว (ทีฆสระ) ซึ่งเป็นคำเป็น ทำให้ฟังไพเราะ รื่นหูกว่า จึงกลายเป็น “สวัสดี” ใช้เป็นคำทักทายที่ไพเราะและสื่อความหมายดี ๆ ต่อกันของคนไทย
คำว่าสวัสดีนั้นจะทำหน้าที่ทั้งการทักทาย และอวยพรไปในคราวเดียวกัน และเมื่อเรากล่าวคำว่าสวัสดี คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้
ดังนั้น เมื่อกล่าวคำว่าสวัสดีพร้อมกับการยกมือขึ้นประนม จึงแฝงให้เห็นถึงความมีจิตใจที่งดงามของคนไทย ที่หวังให้ผู้อื่นพบเจอแต่ในสิ่งที่ดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือเป็นมงคลต่อทั้งตัวผู้พูดและผู้ฟัง และยังสามารถเพิ่มเสน่ห์ในตัวบุคคลได้อีกด้วย นอกจากนี้แล้ว การใช้คำว่าสวัสดียังขึ้นอยู่กับสถานะของผู้พูดด้วย ถ้าพูดกับคนที่มีอายุมากกว่าหรือตำแหน่งสูงกว่าผู้ชายจะใช้คำว่าครับตามหลังคำว่าสวัสดี เป็นสวัสดีครับ ผู้หญิงจะใช้คำว่าค่ะตามหลัง เป็นคำว่าสวัสดีค่ะ แต่ถ้าผู้พูดมีอายุมากกว่าหรือเท่ากับผู้ฟังหรือมีตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ฟังก็จะใช้เพียงคำว่าสวัสดี
ที่มา: วิกิพีเดีย