ประวัติวันตรุษจีน ปี 2563 ตรงกับวันไหน รวมคำอวยพรใช้วันตรุษจีน
ประวัติวันตรุษจีน ปี 2563 ตรงกับวันไหน รวมคำอวยพรใช้วันตรุษจีน
ตรุษจีน (จีนตัวย่อ: 春节; จีนตัวเต็ม: 春節; พินอิน: Chūnjíe ชุนเจี๋ย) เป็นวันหยุดตามประเพณีของจีนที่สำคัญที่สุด ในประเทศจีน ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” เพราะฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินจีนเริ่มต้นด้วยวันลีชุน ซึ่งเป็นวันแรกในทางสุริยคติของปีปฏิทินจีน วันดังกล่าวยังเป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาว ซึ่งคล้ายกันกับงานเทศกาลของตะวันตก เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 (อักษรจีน: 正月, พินอิน: Zhēngyuè) ในปฏิทินจีนโบราณและสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ด้วยเทศกาลโคมไฟ คืนก่อนตรุษจีนเป็นวันซึ่งครอบครัวจีนมารวมญาติเพื่อรับประทานอาหารเย็นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเรียกว่า ฉูซี่ (อักษรจีน: 除夕, พินอิน: Chúxī) หรือ “การผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน” เนื่องจากปฏิทินจีนเป็นแบบสุริยจันทรคติ ตรุษจีนจึงมักเรียกว่า “วันขึ้นปีใหม่จันทรคติ”
ตรุษจีนเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยาวที่สุดและสำคัญที่สุดในปฏิทินจีน จุดกำเนิดของตรุษจีนนั้นมีประวัติหลายศตวรรษและมีความสำคัญเพราะตำนานและประเพณีหลายอย่าง ตรุษจีนมีการเฉลิมฉลองกันในหลายประเทศและดินแดนซึ่งมีประชากรจีนอาศัยอยู่มาก อย่างเช่น จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเก๊า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย รวมทั้งในชุมชนชาวจีนที่อื่น ตรุษจีนถูกมองว่าเป็นวันหยุดสำคัญสำหรับชาวจีนและได้มีอิทธิพลต่อการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่จันทรคติของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมทั้งเกาหลี (โซลนาล) ภูฏาน และเวียดนาม
ในประเทศจีน ธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองตรุษจีนนั้นหลากหลายมาก ประชาชนจะเทเงินของตนเพื่อซื้อของขวัญ ของประดับตกแต่ง วัสดุ อาหารและเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ยังมีประเพณีว่า ทุกครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านอย่างละเอียดลออ เพื่อปัดกวาดโชคร้ายด้วยหวังว่าจะเปิดทางให้โชคดีเข้ามา มีการประดับหน้าต่างและประตูด้วยกระดาษตัดสีแดงและคู่กับธีม “โชคดี”, “ความสุข”, “ความมั่งคั่ง” และ “ชีวิตยืนยาว” ที่ได้รับความนิยม ในคืนก่อนตรุษจีน อาหารค่ำเป็นการกินเลี้ยงกับครอบครัว อาหารนั้นจะมีเช่น หมู เป็ด ไก่และอาหารอย่างดี (delicacies) รสหวาน ครอบครัวจะปิดท้ายค่ำคืนด้วยประทัด เช้าวันรุ่งขึ้น เด็กจะทักทายบิดามารดาของตนโดยอวยพรพวกท่านให้มีสุขภาพดีและสวัสดีปีใหม่ และได้รับเงินอั่งเปา ประเพณีตรุษจีนนั้นเพื่อการสมานฉันท์ ลืมความบาดหมางและปรารถนาสันติและความสุขแก่ทุกคนอย่างจริงใจ
แม้ปฏิทินจีนแต่โบราณไม่ใช้ปีตัวเลขต่อเนื่องกัน นอกประเทศจีน ปีจีนจึงมักนับเลขนับแต่รัชสมัยจักรพรรดิเหลือง แต่เนื่องจากมีการกำหนดให้อย่างน้อยสามปีเป็นเลข 1 ที่นักวิชาการใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน จึงทำให้ปี พ.ศ. 2555 เป็น “ปีจีน” 4710, 4709 หรือ 4649
ในปี 255-2556คณะรัฐมนตรี มีมติให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดราชการประจำปีเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สตูล และสงขลา
วันตรุษจีนตามปีสุริยคติ
ปี | วันที่ | วันที่ | วันที่ |
ชวด | 19/2/39 | 7/2/51 | 25/1/63 |
ฉลู | 8/2/40 | 26/1/52 | 12/2/64 |
ขาล | 28/1/41 | 14/2/53 | 1/2/65 |
เถาะ | 16/2/42 | 3/2/54 | 22/1/66 |
มะโรง | 5/2/43 | 23/1/55 | 9/2/67 |
มะเส็ง | 24/1/44 | 10/2/56 | 29/1/68 |
มะเมีย | 12/2/45 | 31/1/57 | 18/2/69 |
มะแม | 1/2/46 | 19/2/58 | 7/2/70 |
วอก | 22/1/47 | 8/2/59 | 26/1/71 |
ระกา | 9/2/48 | 28/1/60 | 14/2/72 |
จอ | 29/1/49 | 16/2/61 | 3/2/73 |
กุน | 18/2/50 | 5/2/62 | 23/1/74 |
ปฏิทินสุริยจันทรคติจีนเป็นตัวกำหนดวันที่ของตรุษจีน ปฏิทินดังกล่าวยังใช้ในประเทศซึ่งรับเอาหรือได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมฮั่น ที่โดดเด่น คือ เกาหลี ญี่ปุ่นและเวียดนามเหนือ เช่น อิหร่าน และในประวัติศาสตร์ ดินแดนชนบัลการ์
ในปฏิทินเกรโกเรียน แต่ละปีตรุษจีนมิได้ตรงกัน คือ อยู่ระหว่างวันที่ 21 มกราคม ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ในปฏิทินจีน เหมายันต้องเกิดในเดือนที่ 11 จึงหมายความว่า ตรุษจีนมักตรงกับเดือนดับครั้งที่สองหลังเหมายัน (น้อยครั้งที่เป็นครั้งที่สามหากมีอธิกมาส) ในประเพณีจีนโบราณ ลิบชุนหรือลี่ชุนเป็นวันแรกในทางสุริยคติซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งตรงกับประมาณวันที่ 4 กุมภาพันธ์
วันตรุษจีนในประเทศไทย
ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว
- วันจ่าย คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ไม่จำเป็นจะต้องมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ (地主爺 / 地主爷 ตี่จู๋เอี๊ยะ) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้วเพราะว่าเจ้าที่ไม่ได้ไปไหนเมื่อสี่วันที่แล้ว ตัวเราส่งแต่ เจ้าซิ้ง หรือเจ้าเตา
- วันไหว้
- ตอนเช้ามืดจะไหว้ “ป้ายเล่าเอี๊ย” (拜老爺 / 拜老爷) เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง (ซาแซ ซำเช้ง) ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (โหงวแซ) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
- ตอนสาย จะไหว้ “ป้ายแป๋บ้อ” (拜父母) คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
- ตอนบ่าย จะไหว้ “ป้ายฮ่อเฮียตี๋” (拜好兄弟) เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล
- วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่หนึ่ง (初一 ชิวอิก) ของเดือนที่หนึ่งของปี วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันคือ “ป้ายเจีย” เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะส้มออกเสียงภาษาแต้จิ๋วว่า “กิก” (橘) ไปพ้องกับคำว่าความสุขหรือโชคลาภ 吉 แปลว่า โชคลาภ หรือ ภาษาฮกเกี้ยน และ ภาษากวางตุ้ง ส้มเรียกว่า “ก้าม” (柑) ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง (金) เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำความสุขหรือโชคลาภไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล (เสมือนมี 吉 ประกอบกัน 4 ตัว กลายเป็น ?) ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบา งอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น
ประเพณีปฏิบัติและคำอวยพรในวันตรุษจีน
- สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของตรุษจีน คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซองใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือ หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่มาคือในสมัยก่อน เหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็ก ๆ ซึ่งจะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว
คำอวยพร
ในตรุษจีน ชาวจีนจะกล่าวคำ ห่ออ่วย หรือคำอวยพรภาษาจีนให้กัน หรือมีการติดห่ออ่วยไว้ตามสถานที่ต่างๆ คำที่นิยมใช้กัน ได้แก่
- 新正如意 新年發財 / 新正如意 新年发财 (แต้จิ๋ว: ซิงเจี่ยยู้อี่ ซิงนี้หวกไช้; จีนกลาง: ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย; ฮกเกี้ยน: ซินเจี่ยหยู่อี่ ซินนี่ฮวดไช้; จีนแคะ: ซินจึ้นหยู่อี๋ ซินเหนี่ยนฟั่ดโฉ่ย; กวางตุ้ง: ซันจิงจู๋จี่ ซันหนินฟัดฉ่อย) แปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่
- 新年快樂 / 新年快乐 (จีนกลาง: ซินเหนียนไคว่เล่อ; กวางตุ้ง:ซันหนิ่นฟายหลอก;ฮกเกี้ยน: ซินนี้ก๊วยหลก) นิยมใช้ในประเทศจีน
- 恭喜發財 / 恭喜发财 (จีนกลาง: กงฉี่ฟาฉาย; ฮกเกี้ยน: หย่งฮี้ฮวดจ๋าย; กวางตุ้ง: กุงเหฟัดฉ่อย)
- 過年好 / 过年好 (จีนกลาง: กั้วเหนียนห่าว) ใช้โดยชนพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศจีน วลีนี้ยังหมายถึงวันที่หนึ่งถึงวันที่ห้าของปีใหม่ด้วย
- 大吉大利 (จีนกลาง:ต้าจี้ต้าลี่)(ฮกเกี้ยน: ตั่วเก็ตตั่วลี่) แปลว่า ความมงคลอันยิ่งใหญ่ ค้าขายได้กำไร
- 金玉满堂 (จีนกลาง:กิมหยกม่านถัง)(ฮกเกี้ยน: กิ้มหยกมั่วต๋อง) แปลว่า ทองหยกเต็มบ้าน
- 萬事如意 / 万事如意 (จีนกลาง:ว่านซื่อหรูอี้)(ฮกเกี้ยน: บ่านสู่หยู่อี่) แปลว่า หมื่นเรื่องสมปรารถนา
- 福壽萬萬年/ 福寿万万年 (จีนกลาง: ฝูเชี่ยวหวันวันเลี่ยน; ฮกเกี้ยน: ฮกซิ่วบันบั่นนี่) แปลว่า อายุยืนหมื่นๆ ปี
- 大家好運氣 / 大家好运气(จีนกลาง: ต้าเจียห่าวเหยียนชี; ฮกเกี้ยน: ต้าเก่โฮ่อุ๊นคิ) แปลว่า โชคดีเข้าบ้าน
- 年年大賺錢 / 年年大赚钱 (ฮกเกี้ยน: หนีนี้ตั๊วถั่นจี๋) แปลว่า ปีนี้ร่ำรวยมหาศาล
- 年年有余 (จีนกลาง:เหนียนเหนียนโหย่วหยีว) แปลว่าเหลือกินเหลือใช้
ที่มา: th.wikipedia.org