นักวิชาการวิเคราะห์ นโยบายงดแจกถุงพลาสติก ขัดแย้งในตัว
นักวิชาการวิเคราะห์ นโยบายงดแจกถุงพลาสติก ขัดแย้งในตัว
เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โพสต์ข้อความ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Sonthi Kotchawat ถึงนโยบายการงดแจกถุงพลาสติกไว้อย่างน่าสนใจว่า
“นโยบายที่ขัดแย้งในเรื่องพลาสติก
1.ภาคเอกชนภาคีเครือข่าย43แห่งให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วยความสมัครใจงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic)ลงได้7.8แสนตันต่อปีจากปริมาณถุงพลาสติกที่เกิดขึ้นประมาณ 2 ล้านตันต่อปี
2 แต่หากจะให้การลดถุงพลาสติกเกิดผลที่กว้างมากขึ้นแบบในประเทศพัฒนาแล้วก็ต้องออกกฏหมายเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกหรือเก็บเงินค่าถุงพลาสติกในทุกร้านค้าทั่วประเทศโดยอาจให้เป็นถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือเป็นถุงพลาสติกมีความหนาใช้ได้หลายครั้ง การคิดเงินค่าถุงพลาสติกเพียงเล็กน้อยจะเปลี่ยนพฤติกรรมและลดปริมาณการใช้ถุงได้จำนวนมาก เพราะผู้ซื้อสินค้าที่เคยได้รับถุงฟรีๆหากไม่ต้องการจ่ายเงินค่าถุงก็ต้องนำถุงเก่ามาใช้ซ้ำหรือเตรียมถุงผ้าสำหรับใส่สินค้ามาด้วย
3.ปี2561-2562 ประเทศไทยนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประ เทศมากถึง481,381ตันสูงเป็นอันดับ3ในอาเซียน(กรีนพีช) และกำหนดให้มีปริมาณนำเข้าในปีต่อไปปีละ70,000ตันเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าพลาสติกราคาถูก ถ้าใครซื้อของใช้พลาสติกตามร้าน20บาท ทั้งหมดจะมาจากพลาสติกรีไซเคิล แต่ที่ยิ่งกว่านั้นปัจจุบันสินค้าพลาสติกคุณภาพต่ำราคาถูกถูกนำเข้าจากประเทศจีนเป็นจำนวนมากนำมาขายและกลายมาเป็นขยะท่วมประเทศไทยอยู่ทุกวันนี้ คำถามว่าทำไมไม่ใช้ขยะพลาสติกในประเทศไทยมารีไซเคิลแทนการนำเข้า ข้อเท็จจริงก็คือขยะพลาสติกในประเทศไทยมีจำนวนมากจริงแต่เป็นขยะที่ไม่ได้ถูกคัดแยกอย่างมีประสิทธิ ภาพทั้งจากประชาชนและรัฐบาล จึงมีการปนเปื้อนสูงดังนั้นโรงงานอุตสาหกรรมจึงซื้อขยะพลาสติกจากต่างประเทศ(โดยเป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้าของรัฐบาลคือเศษพลาสติกต้องสะอาดไม่ปนเปื้อนมีขนาดไม่เกิน2.0เซนติเมตร)นำมารีไซเคิลและผลิตสินค้าพลาสติกราคาถูกขาย ซึ่งจะมีต้นทุนถูกกว่าการนำขยะพลาสติกในประเทศไทยมาคัดแยกและนำมารีไซเคิลผลิตเป็นสินค้าใหม่ ทำให้ขยะพลาส ติกในประเทศตกค้างจำนวนมากและถูกกองทิ้งไว้ในหลุมขยะเทศบาลและไหลลงทะเลในที่สุด
4.โรงงานคัดแยกและรีไซเคิล(โรงงานประเภท105และ106) ในประเทศไทยตั้งขึ้นได้ง่ายเนื่องจากมีประกาศคสช.ที่ 4/2559กำหนดให้ตั้งที่ใดก็ได้ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายผังเมืองทำให้จังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานรีไซเคิลถึง 6,000 แห่งและมากกว่า3,000แห่งในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น
5.รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้คนไทยเสียสละลดการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างกว้างขวางแต่อีกด้านเรากลับยินยอมให้นำเข้าขยะเศษพลาสติกจากต่างประเทศจำนวนมากมารีไซเคิลเป็นสินค้าพลาสติกราคาถูก คุณภาพต่ำมาขายในประเทศซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นขยะพลาสติกมหาศาลอยู่ในประเทศรวมทั้งยินยอมให้ต่างประเทศมาตั้งโรงงานรีไซเคิลพลาสติกในประเทศได้อย่างง่ายดาย
นโยบายแบบนี้มันขัดแย้งกันอยู่ในตัวเองนะครับ”
https://www.facebook.com/sonthi.kotchawat/posts/3088193224532650
ภาพหน้าปกโดย RitaE จาก Pixabay