ยกฟ้องทักษิณ ราชกิจจาฯ คำพิพากษาคดีปล่อยกู้กรุงไทย
ยกฟ้องทักษิณ เผยราชกิจจาฯ คดีปล่อยกู้กรุงไทย
ยกฟ้องทักษิณ – วันที่ 20 ธ.ค. 62 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่ร่วมกันทุจริตการปล่อยกู้สินเชื่อ ธ.กรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 27 คน เป็นจำเลย เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหายเป็นเงิน 10,054.46 ล้านบาท ผลคือศาลยกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร
รายละเอียดคำพิพากษามีดังนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหายเป็นองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ และเป็นธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ จําเลยที่ ๑ ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอํานาจหน้าที่กํากับ ดูแล ควบคุมตรวจสอบธนาคารผู้เสียหาย จําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๗เป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหายมีหน้าที่จัดการ ดูแล ครอบครองทรัพย์สินของธนาคารผู้เสียหายและรับผิดชอบในการดําเนินงานของธนาคารผู้เสียหาย โดยจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นกรรมการในคณะกรรมการธนาคารผู้เสียหายและเป็นกรรมการบริหาร มีจําเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการบริหารและจําเลยที่ ๓ เป็นกรรมการผู้จัดการอีกตําแหน่งหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบในการดําเนินงานทั้งปวงตลอดจนบังคับบัญชาพนักงานธนาคารผู้เสียหาย จําเลยที่ ๕ ถึงที่ ๑๒เป็นกรรมการสินเชื่อ มีจําเลยที่ ๕ เป็นประธาน จําเลยที่ ๑๒ ถึงที่ ๑๗ ทําหน้าที่รับผิดชอบลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ตั้งแต่เริ่มเป็นลูกค้าจนชําระหนี้เสร็จสิ้น จําเลยที่ ๑๘ และที่ ๑๙เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัดมีจําเลยที่ ๒๓ และที่ ๒๔ เป็นกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนจําเลยที่ ๒๐ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจํากัด มีจําเลยที่ ๑๘ ที่ ๑๙ ที่ ๒๑ และที่ ๒๒ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลในเครือของจําเลยที่ ๒๐ โดยมีจําเลยที่ ๒๕ เป็นผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครือจําเลยที่ ๒๐ ทั้งหมด จําเลยที่ ๒๐ มีผลการดําเนินการและฐานะทางการเงินประสบผลขาดทุนมาโดยตลอดและอยู่ในเกณฑ์อาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงต้องจัดทําแผนฟื้นฟูกิจการโดยการเพิ่มทุน ลดทุน ซึ่งจําเลยที่ ๒๐ ต้องรวบรวมหุ้นทั้งหมดให้ได้สัดส่วนสามในสี่ของทุนทั้งหมดเพื่อใช้ลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้น จําเลยที่ ๒๐ จึงต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อนํามาใช้ในการขอซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนจากสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมทั้งธนาคารผู้เสียหายด้วย แต่จําเลยที่ ๒๐ ไม่อยู่ในฐานะที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ จึงต้องให้กลุ่มบริษัทในเครือดําเนินการแทน
ดังนั้น เมื่อระหว่างวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๖ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗เวลากลางวันติดต่อกัน จําเลยทั้งยี่สิบเจ็ดได้ร่วมกันกระทําความผิด โดยแบ่งหน้าที่กันทํา โดยจําเลยที่ ๑ในฐานะนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและมิชอบ เข้ามีส่วนได่เสียเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นโดยสั่งการผ่านไปทางจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการที่จําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๗ เสนอแล้วจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๗ ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหายอันเป็นอาชีพที่ไว้วางใจของประชาชนได้ครอบครองทรัพย์และรับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของธนาคารผู้เสียหายร่วมกันเบียดบังยักยอกเอาเงินของธนาคารผู้เสียหายเป็นของตนและจําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๗ ด้วยการให้สินเชื่อแก่จําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๗โดยทุจริตและมิชอบ โดยการกระทําผิดหน้าที่ ละเว้นไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง ระเบียบ กฎหมายและหลักเกณฑ์ทั่วไปของธนาคารพาณิชย์พึงปฏิบัติ และจําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๗ ร่วมกันและสนับสนุนจําเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๗ กระทําความผิดด้วยการเสนอโครงการเพื่อขอสินเชื่อโดยทุจริตและมิชอบและเมื่อได้รับอนุมัติแล้วได้นําเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องโดยทุจริต เป็นเหตุให้ธนาคารผู้เสียหายผู้ถือหุ้น และประชาชนผู้ฝากเงินได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๑๐,๐๕๔,๔๖๗,๔๘๐ บาท
โดยมีรายละเอียดของการกระทําคือเมื่อระหว่างวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๖ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๖เวลากลางวันติดต่อกัน จําเลยที่ ๕ ถึงที่ ๑๗ ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อ ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทให้แก่จําเลยที่ ๑๘ โดยจําเลยที่ ๒๓ และที่ ๒๔ ในฐานะผู้แทนของจําเลยที่ ๑๘ และในฐานะส่วนตัวเพื่อนําเงินไปซื้อที่ดิน โดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงฐานะทางการเงิน ความสามารถในการชําระหนี้วัตถุประสงค์ของการใช้สินเชื่อ แหล่งเงินทุนที่จะชําระหนี้ และไม่ควบคุมติดตามดูแลสินเชื่อหลังการอนุมัติโดยใกล้ชิด รวมทั้งไม่เรียกหลักประกันให้คุ้มหนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหายมิให้เสียหายตามกระบวนการมาตรฐาน ระเบียบ คําสั่ง และนโยบายสินเชื่อที่ธนาคารผู้เสียหายธนาคารแห่งประเทศไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกําหนด เมื่อได้รับสินเชื่อแล้ว จําเลยที่ ๑๘ไม่นําเงินไปซื้อที่ดินตามที่ขออนุมัติ กลับโอนให้จําเลยที่ ๒๑ ที่ ๒๕ และพวกพ้อง เพื่อนําไปใช้ประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต เป็นเหตุให้ธนาคารผู้เสียหายได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทเมื่อระหว่างวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗เวลากลางวันติดต่อกัน จําเลยที่ ๑ สั่งการให้จําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๗ อนุมัติสินเชื่อตามที่จําเลยที่ ๑๘
ถึงที่ ๒๗ เสนอ แล้วจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๗ ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อ ๙,๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แบ่งเป็นวงเงินปลดภาระหนี้ (Refinance) จากธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ๘,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อที่ดิน ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พัฒนาสาธารณูปโภค ๑,๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จําเลยที่ ๑๙ โดยจําเลยที่ ๒๓ และที่ ๒๔ ในฐานะผู้แทนของจําเลยที่ ๑๙ และในฐานะส่วนตัว โดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงฐานะทางการเงินและความสามารถในการชําระหนี้ ความเป็นไปได้ และวัตถุประสงค์ของโครงการแหล่งเงินทุนที่จะชําระหนี้คืน ไม่ตรวจสอบยอดหนี้ที่แท้จริงที่จําเลยที่ ๑๙ มีอยู่กับธนาคารกรุงเทพ จํากัด(มหาชน) ซึ่งหากตรวจสอบแล้วก็สามารถทราบได้ว่า จําเลยที่ ๑๙ มีหนี้ที่ต้องชําระให้ธนาคารกรุงเทพ จํากัด(มหาชน) เพียง ๔,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งไม่ตรวจสอบและประเมินที่ดิน ซึ่งใช้เป็นหลักประกันตามระเบียบของธนาคารผู้เสียหาย เป็นเหตุให้มีการรับรองราคาประเมินที่ดินหลักประกันสูงถึง๑๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ความจริงแล้วราคาที่ดินหลักประกันมีมูลค่าที่แท้จริง๔,๖๐๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทธนาคารผู้เสียหายได้จ่ายเงินตามวงเงินสินเชื่อให้แก่จําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๗ เป็นเงินชําระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ๘,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าซื้อที่ดิน ๓๖๘,๗๓๒,๑๐๐ บาทแล้วจําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๗ นําเงินไปชําระหนี้ให้ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ๔,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือจําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๗ นําไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิของจําเลยที่ ๒๐คืนจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยแบ่งหน้าที่ให้จําเลยที่ ๒๑ นําเงิน ๑,๐๑๐,๕๓๖,๐๐๐ บาทไปวางมัดจําและชําระค่าหุ้นบุริมสิทธิของจําเลยที่ ๒๐ ให้ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) และนําไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนกับพวกพ้อง เป็นเหตุให้ธนาคารผู้เสียหายได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๘,๓๖๘,๗๓๒,๑๐๐ บาทเมื่อระหว่างวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๖ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗ เวลากลางวันติดต่อกัน จําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ขายหุ้นบุริมสิทธิของจําเลยที่ ๒๐ ที่ธนาคารผู้เสียหายถือครองอยู่ ๑๑๘,๕๗๓,๕๓๘ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท เป็นเงิน๑,๑๘๕,๗๓๕,๓๘๐ บาทให้แก่จําเลยที่ ๒๒ ให้เครดิตการชําระเงินค่าหุ้นภายใน ๔ เดือน โดยไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกันจึงเป็นการขายหุ้นในลักษณะการให้สินเชื่อตามระเบียบ คําสั่ง และนโยบายสินเชื่อของธนาคารผู้เสียหายโดยไม่มีการวิเคราะห์ฐานะและความสามารถในการชําระหนี้ของจําเลยที่ ๒๒ ทั้งเป็นการขัดกับวิธีปฏิบัติปกติในเรื่องการขายหุ้นที่ต้องชําระราคาค่าหุ้นทันทีที่ซื้อขาย รวมทั้งสถาบันการเงินอื่นที่ถือครองหุ้นบุริมสิทธิของจําเลยที่ ๒๐ ในช่วงนั้นขายหุ้นบุริมสิทธิของจําเลยที่ ๒๐ แก่ผู้ซื้อหุ้น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือจําเลยที่ ๒๐ ก็ได้รับชําระค่าหุ้นทันทีที่ซื้อขายทั้งหมด
นอกจากนั้นจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มอบฉันทะให้จําเลยที่ ๒๒ โดยจําเลยที่ ๒๗ ในฐานะผู้แทนของจําเลยที่ ๒๒ และในฐานะส่วนตัวใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของจําเลยที่ ๒๐ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเนื่องจากธนาคารผู้เสียหายยังไม่ไดรับชําระเงินค่าหุ้น๑,๑๘๕,๗๓๕,๓๘๐ บาท เหตุเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนาและแขวงอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จําเลยที่ ๑ เป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลยที่ ๑ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๐, อม. ๑๐/๒๕๕๒ และจําเลยในคดีหมายเลขดําที่ อม. ๙/๒๕๕๑ ของศาลนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒,๑๕๗, ๓๕๒, ๓๕๓ และ ๓๕๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา๔, ๘ และ ๑๑ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๐๗, ๓๐๘, ๓๑๑, ๓๑๓ และ ๓๑๕ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. ๒๕๓๕มาตรา ๘๕, ๙๑ นับโทษจําเลยที่ ๑ คดีนี้ต่อจากโทษของจําเลยที่ ๑ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๐อม. ๑๐/๒๕๕๒ และจําเลยในคดีหมายเลขดําที่ อม. ๙/๒๕๕๑ของศาลนี้ ให้จําเลยที่ ๑ ถึงที่ ๒๗ร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๑๐,๐๕๔,๔๖๗,๔๘๐ บาท แก่ธนาคารผู้เสียหายศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้จําเลยที่ ๑ ทราบโดยชอบแล้ว จําเลยที่ ๑ ไม่มาศาล จึงออกหมายจับจําเลยที่ ๑ แต่ไม่สามารถติดตามจับจําเลยที่ ๑ ได้ภายในกําหนด จึงจําหน่ายคดีเฉพาะจําเลยที่ ๑ ออกจากสารบบความชั่วคราวจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๒๗ ให้การปฏิเสธ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองไต่สวนแล้วพิพากษาลงโทษจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ และที่ ๑๒ ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๑๓ ประกอบมาตรา ๓๐๗ และมาตรา ๓๐๘ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ ประกอบมาตรา ๓๕๔ และจําเลยที่ ๓ ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๘ อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทํากรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จําคุกจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ และที่ ๑๒ คนละ ๑๘ ปี จําเลยที่ ๕ ที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ และที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖
และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๑๕ ประกอบมาตรา ๓๐๗ และมาตรา ๓๐๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ และมาตรา ๓๕๔ ประกอบมาตรา ๘๖ เป็นการกระทํากรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จําคุกจําเลยที่ ๕ ที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ และที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ คนละ ๑๒ ปี สําหรับจําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๗ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ และมาตรา ๑๑ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๑๕ ประกอบมาตรา ๓๐๗ และมาตรา ๓๐๘ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ และมาตรา ๓๕๔ ประกอบมาตรา ๘๖ เป็นการกระทํากรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ โดยจําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๒ ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้ปรับรายละ ๒๖,๐๐๐ บาท ส่วนจําเลยที่ ๒๓ ถึงที่ ๒๗ ให้จําคุกคนละ ๑๒ ปี ให้จําเลยที่ ๒๐ ที่ ๒๕ และที่ ๒๖ ร่วมกันคืนเงิน ๑๐,๐๐๔,๔๖๗,๔๘๐ บาทแก่ธนาคารผู้เสียหาย โดยให้จําเลยที่ ๓ ที่ ๒๒ และที่ ๒๗ ร่วมรับผิด ๙,๕๕๔,๔๖๗,๔๘๐ บาท จําเลยที่ ๑๒ ถึงที่ ๑๗ ที่ ๒๑ ที่ ๒๓ และที่ ๒๔ ร่วมรับผิด๘,๘๑๘,๗๓๒,๑๐๐ บาท จําเลยที่ ๑๘ ร่วมรับผิด ๔๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และจําเลยที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๘ ถึงที่ ๑๑ และที่ ๑๙ ร่วมรับผิด ๘,๓๖๘,๗๓๒,๑๐๐ บาท ซึ่งเงินส่วนนี้ถ้าธนาคารผู้เสียหายได้รับชําระคืนแล้วเป็นจํานวนเท่าใดก็ให้หักออกจากจํานวนที่สั่งให้ใช้คืนตามส่วน หากจําเลยที่ ๑๘ ถึงที่ ๒๒ ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ ข้อหาและคําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สําหรับจําเลยที่ ๖ และที่ ๗ ให้ยกฟ้องต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ศาลพิจารณาคดีโดยไม่จําต้องกระทําต่อหน้าจําเลยได้
โจทก์ยื่นคําร้องขอให้ยกคดีสําหรับจําเลยที่ ๑ ขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลอนุญาตจําเลยที่ ๑ ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรก ถือว่าจําเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๓๓ วรรคสาม โดยจําเลยที่ ๑ ตั้งทนายความเข้ามาดําเนินคดีแทนและให้การปฏิเสธตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๘ วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ทางไต่สวนพยานหลักฐานจากการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองประกอบรายงานการตรวจสอบไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และคําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองในคดีนี้ ข้อเท็จจริงรับฟ้งได้ว่า จําเลยที่ ๑ เป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลยที่ ๑ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๐อม. ๑๐/๒๕๕๒ และจําเลยในคดีหมายเลขดําที่ อม. ๙/๒๕๕๑ ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ธนาคารผู้เสียหายเป็นบริษัทจํากัด ต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจํากัด ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีหลักทรัพย์ จดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ทําการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยกองทุนตั้งขึ้นตามพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกินกว่าร้อยละ ๕๐ มีคณะกรรมการธนาคาร มีอํานาจในการบริหารงานเพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้อบังคับของธนาคาร และมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นคณะกรรมการธนาคารผู้เสียหายมีมติในการประชุม ครั้งที่ ๕/๒๕๔๖ (๕๙๙) เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๖ แต่งตั้งจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม สาวนายน เป็นคณะกรรมการบริหาร มีอํานาจหน้าที่พิจารณาอนุมัติสินเชื่อทุกประเภทที่มีวงเงินเกินกว่า ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
และมีมติในการประชุมครั้งที่ ๗/๒๕๔๔ (๕๖๘/๒) เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔ แต่งตั้งจําเลยที่๓เป็นผู้จัดการใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ มีหน้าที่ควบคุม ดูแลและบังคับบัญชาสายงานภายในของธนาคารผู้เสียหาย รวมทั้งฝ่ายธุรกิจตลาดทุน สายงานธุรกิจต่างประเทศและตลาดการเงินสายงานสินเชื่อภาคเหนือและนครหลวงตะวันตก และตามสัญญาว่าจ้างลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๔ จําเลยที่ ๓ มีคําสั่งแต่งตั้งจําเลยที่ ๕ ถึงที่ ๑๒ และ นายดุสิต เต็งนิยม เป็นคณะกรรมการสินเชื่อโดยมีจําเลยที่ ๕ เป็นประธานกรรมการ นายดุสิต เป็นรองประธานกรรมการ และ นายศักดิ์ เฉียบแหลม เป็นเลขานุการ มีหน้าที่อนุมัติสินเชื่อภายในวงเงินที่ธนาคารกําหนด กลั่นกรองการเสนอขออนุมัติสินเชื่อหรือปรับปรุงหนี้ตอคณะกรรมการบริหาร โดยใหคณะกรรมการสินเชื่อมีอํานาจอนุมัติวงเงินสินเชื่อไม่เกิน ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จําเลยที่ ๑๒ นอกจากได้รับแต่งตั้งเปนคณะกรรมการสินเชื่อแล้วยังดํารงตําแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงานสินเชื่อภาคเหนือและนครหลวงตะวันตกมีจําเลยที่ ๑๖ เป็นผู้อํานวยการฝ่าย จําเลยที่ ๑๕ เป็นรองผู้อํานวยการฝ่าย และจําเลยที่ ๑๓ เป็นหัวหน้าส่วนปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารงานธุรกิจสัมพันธ์ กับกลุ่มงานฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีจําเลยที่ ๑๗ เป็นผู้อํานวยการฝ่าย จําเลยที่ ๑๔ เป็นรองผู้อํานวยการฝ่าย จําเลยที่ ๒๐ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจํากัด มีหลักทรัพยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพยแหงประเทศไทย มี นางปรานอม แสงสุวรรณเมฆา นายธเนศวร สิงคาลวณิช และจําเลยที่ ๒๖ เป็นกรรมการ ฐานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ และวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ มีผลขาดทุนสะสม ๖,๓๘๓,๕๓๒,๗๘๐ บาท ๗,๗๐๐,๒๒๒,๔๕๒ บาท และ ๖,๘๐๒,๙๗๑,๑๕๑ บาท ตามลําดับ โดยมีบริษัทที่เกี่ยวของในสวนกรรมการและหรือผูถือหุนกับจําเลยที่ ๒๐ คือ จําเลยที่ ๑๘ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๘ ทุนเริ่มจดทะเบียน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ประกอบกิจการดานอสังหาริมทรัพย์ ไดแก่ ซื้อขาย จัดสรรรวมถึงธุรกิจด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับที่ดิน ขณะเกิดเหตุมีจําเลยที่ ๒๓ และที่ ๒๔ เป็นกรรมการเคยเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) กับสถาบันการเงิน ภายหลังมีการปรับโครงสรางหนี้แล้วเมื่อปี ๒๕๔๒ ผลการดําเนินงานปี ๒๕๔๖ ปี ๒๕๔๕ และ ปี ๒๕๔๔ มีผลขาดทุนสะสม ๒๓๗,๖๗๔,๔๕๖.๐๖ บาท ๒๐๗,๘๕๑,๔๓๒.๘๗ บาท และ ๒๐๖,๘๘๖,๕๔๙.๗๖ บาท ตามลําดับ จําเลยที่ ๑๙ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๑ ทุนจดทะเบียนและชําระแล้ว ๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีจําเลยที่ ๒๓ และที่ ๒๔ เป็นกรรมการ จากงบการเงินของจําเลยที่ ๑๙
มีผลขาดทุนจากการดําเนินงานหลายปี ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ และ ๒๕๔๔ มีสวนของผู้ถือหุ้นติดลบ ๓,๒๐๐,๐๓๑,๙๔๑ บาท และ ๓,๑๖๑,๙๐๒,๗๘๒ บาท ตามลําดับ จําเลยที่ ๒๒ จดทะเบียนวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๙ ทุนจดทะเบียน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทุนชําระแล้ว ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท มีผลการดําเนินงานปี ๒๕๔๖ ปี ๒๕๔๕ และปี ๒๕๔๔ ขาดทุน๒,๔๙๙.๕๔ บาท๗,๙๙๙.๒๘ บาทและ ๑๑,๒๘๓.๓๒ บาท ตามลําดับ นอกจากนี้ยังมีบริษัท ทอปเปอร์แมนเนจเมนท์จํากัดและบริษัท ชะอําดีเวลลอปเมนท์ จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องและมีการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารผู้เสียหาย โดยจําเลยที่ ๑๘ ได้รับอนุมัติสินเชื่อประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจากธนาคารผู้เสียหาย ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จําเลยที่ ๑๙ ได้รับอนุมัติสินเชื่อในโครงการ “กฤษดาซิตี้ 4000″ จากธนาคารผู้เสียหาย ๙,๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และธนาคารผู้เสียหายขายหุนบุริมสิทธิของจําเลยที่ ๒๐ใหแก่จําเลยที่ ๒๒ ราคารวม ๑,๑๘๕,๗๓๕,๓๘๐ บาท ภายหลังจากธนาคารผู้เสียหายอนุมัติสินเชื่อใหแก่จําเลยที่ ๑๘ ที่ ๑๙ และขายหุ้นบุริมสิทธิใหแกจําเลยที่ ๒๒ แล้ว ปรากฏว่าในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ นายธวัชชัย บังเกิดสิงห์ และ นายเวชยันต์ ประสาทเสรี กับพวกในฐานะผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของธนาคารพาณิชย์ตามแผนการปฏิบัติงานประจําปีของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เขาตรวจสอบธนาคารผู้เสียหายพบวากรณีให้สินเชื่อแก่จําเลยที่ ๑๙ จํานวน ๙,๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีการนําเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้นจึงมีคําสั่งให้ธนาคารผู้เสียหายตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระจากการให้สินเชื่อดังกล่าว เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้สินเชื่อแกจําเลยที่ ๑๙ และดําเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการให้สินเชื่อ ทั้งให้ผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ดําเนินการตรวจสอบเส้นทางเดินเงินกรณีธนาคารผู้เสียหายให้สินเชื่อแก่กลุ่มบริษัทจําเลยที่ ๒๐ ต่อไปด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบกระแสเงินกู้ที่จําเลยที่ ๑๙ ได้รับจากธนาคารผู้เสียหาย สาขาพระปิ่นเกล้า เป็นแคชเชียร์เช็ค ๑๑ ฉบับ รวม ๗,๙๘๕,๗๖๒,๐๐๐ บาท นั้น แคชเชียร์เช็คจํานวน ๖ ฉบับ รวม ๒,๕๔๐,๐๙๖,๐๐๐ บาท มีการนําฝากเขาบัญชีจําเลยที่ ๑๙ ที่ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สาขาศรีย่าน และปรากฏพฤติกรรมในการทําธุรกรรมเบิกถอนเงินออกจากบัญชีดังกลาวระหวางบุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวของกับกลุมบริษัทจําเลยที่ ๒๐ หลายขั้นตอน และยังนําไปให้จําเลยที่ ๒๑ ซื้อหุนบุริมสิทธิแปลงสภาพของจําเลยที่ ๒๐ ทั้งหมดเป็นเงิน ๓๖๙,๖๘๕,๒๐๐ บาท ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจํานวน ๑๙๗,๖๒๒,๕๕๕ บาท โอนให้บุคคลต่างๆ
ในกลุ่มบริษัทจําเลยที่ ๒๐ ส่วนที่เหลืออีก ๕ ฉบับ ถูกนําไปชําระหนี้รีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงเทพ จํากัด(มหาชน) จํานวน ๓ ฉบับ เป็นเงิน๔,๔๔๕,๑๓๐,๐๐๐ บาท และนําไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิชนิดแปลงสภาพของจําเลยที่ ๒๐ คืนจากธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ในนามของจําเลยที่ ๒๑ จํานวน ๒ ฉบับเป็นเงิน๑,๐๐๐,๕๓๖,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ยังพบว่า เงินกู้จํานวน ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่จําเลยที่ ๑๘ได้รับจากธนาคารผู้เสียหาย นั้น มีจํานวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้ถูกนําไปชําระเป็นค่าธรรมเนียมเงินกู้ ที่จําเลยที่ ๑๙ กู้ไปจากธนาคารผู้เสียหาย และจํานวน ๔๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ถูกนําไปชําระค่ามัดจํารีไฟแนนซ์ที่จําเลยที่ ๑๙ มีต่อธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ด้วย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้ถ้อยคํา โดยธนาคารผู้เสียหายได้ชี้แจงเป็นหนังสือและส่งรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการให้สินเชื่อแก่จําเลยที่ ๑๙ และการขายหุ้นบุริมสิทธิให้แก่จําเลยที่ ๒๒ประกอบการพิจารณา หลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายพร้อมเอกสารหลักฐานเสนอต่อคณะกรรมการประสานงานการดําเนินคดีในความผิดตามกฎหมายการเงินการคลัง ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการประสานงานการดําเนินคดีในความผิดตามกฎหมายการเงินการคลังพ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อพิจารณาว่า ควรดําเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีมติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดําเนินคดีแก่ผู้บริหารธนาคารผู้เสียหายกับพวกและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยลงนามในหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ ดําเนินการตามกฎหมายแก่ผู้บริหารธนาคารผู้เสียหายกับพวกว่า ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตกรณีการให้สินเชื่อแก่จําเลยที่ ๑๙ จํานวน๙,๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และกรณีขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของจําเลยที่ ๒๐ ให้แก่จําเลยที่ ๒๒ โดยไม่ได้รับชําระราคาทันที ส่วนกรณีธนาคารผู้เสียหายได้อนุมัติสินเชื่อประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจํานวน ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้จําเลยที่ ๑๘ โดยมิชอบ หากพบว่าผู้ใดมีส่วนร่วมกระทําความผิดหรือให้ความช่วยเหลือให่ความสะดวกในการกระทําความผิด หรือปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายในความผิดใดแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยประสงค์ที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษดําเนินคดีด้วยต่อมาสํานักงานตํารวจแห่งชาติแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบว่า กรณีดังกล่าวอาจจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒มาตรา ๑๑ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ และประมวลกฎหมายอาญาเป็นกรณีที่ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการซึ่งอยู่ในอํานาจหน้าที่ตรวจสอบไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือคณะกรรมการ
ป.ป.ช. จึงได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมาวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยทรงเปนประมุขได้ยึดอํานาจปกครองประเทศและมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลงกับมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เรื่อง การตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่ง หรือ คตส. มีอํานาจหน้าที่ตรวจสอบการกระทําของบุคคลใดๆที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรอันเป็นการกระทําให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ อีกทั้งมีอํานาจหน้าที่ตรวจสอบกรณีอื่นๆ อีกหลายประการ รวมทั้งมีอํานาจพิจารณาเรื่องใดๆ ที่เห็นควรตรวจสอบเรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูลหรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดําเนินการของหน่วยงานอื่นใด และให้มีอํานาจเรียกสํานวนหรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดําเนินการของหน่วยงานของรัฐหรือเรียกสํานวนการสอบสวน หรือการตรวจสอบของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาพิจารณาและให้ใช่เป็นสํานวนการตรวจสอบของ คตส. ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๙ คตส. จึงได้เรียกสํานวนคดีจากสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาดําเนินการตรวจสอบตามอํานาจหน้าที่แล้วมีความเห็นควรให้ดําเนินคดีอาญาแก่จําเลยทั้งยี่สิบเจ็ด จากนั้นส่งมอบสํานวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการต่อไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสํานวนเสนออัยการสูงสุดอัยการสูงสุดได้พิจารณาสํานวนการตรวจสอบไต่สวนและเอกสารต่างๆ แล้ว เห็นว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์ พอที่จะยื่นฟ้องต่อศาล จึงได้มีการตั้งคณะทํางานร่วมระหว่างคณะทํางานผู้แทนอัยการสูงสุดและคณะทํางานผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อคณะทํางานร่วมได้รวบรวมข้อไม่สมบูรณ์ครบถ้วนแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแจ้งให้โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยทั้งยี่สิบเจ็ดเป็นคดีนี้ ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ ว่า เมื่อพิจารณาถึงฐานะและผลการดําเนินงานของจําเลยที่ ๑๘ ที่ ๑๙ รวมถึงจําเลยที่ ๒๐ และบริษัทในกลุ่มต่างอยู่ในสภาพมีหนี้สินเป็นจํานวนมากและไม่มีรายได้ตาอเนื่องกันมาหลายปี การชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีจํานวนน้อยมาก
มีดอกเบี้ยเพิ่มพูนขึ้นอย่างมาก แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จําเลยที่ ๑๘ และที่ ๑๙มีฐานะการเงินที่ไม่มั่นคง ไม่อยู่ในฐานะที่จะชําระหนี้ที่ขอสินเชื่อได้ และแม้ว่าในการขอสินเชื่อของจําเลยที่ ๑๘ จะอ้างว่าเป็นการขอสินเชื่อเพื่อนําไปซื้อที่ดินขายซึ่งได้แสดงประมาณการว่าจะมีผลกําไรนํามาชําระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้เสียหายได้ เช่นเดียวกับการขอสินเชื่อของจําเลยที่ ๑๙ ที่เป็นการขอสินเชื่อเพื่อทําโครงการ”กฤษดาซิตี้ 4000″ และตามแผนงานที่เสนอคาดว่าจะมีกําไรสามารถนําเงินมาชําระหนี้ได้เช่นกันนั้น เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของทั้งสองกรณีโดยละเอียดแล้ว สําหรับการขอสินเชื่อของจําเลยที่ ๑๘ เพื่อซื้อที่ดินที่มีศักยภาพเก็บไว้เองหรือจําหน่ายในราคาที่เหมาะสม มีลูกค้าหลักคือจําเลยที่ ๒๐ มีเอกสารแนบคําขอสินเชื่อเป็นบันทึกข้อตกลงซื้อขายที่ดินระหว่างจําเลยที่ ๑๘กับจําเลยที่ ๒๐ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาฐานะของจําเลยที่ ๒๐ ซึ่งเป็นหนี้กับสถาบันการเงินหลายแห่งและมีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารผู้เสียหายมีเงื่อนไขห้ามมิให้จําเลยที่ ๒๐ ก่อหนี้เพิ่ม ในบันทึกข้อตกลงระหว่างจําเลยที่ ๑๘ กับจําเลยที่ ๒๐ เองก็ยังมีข้อตกลงให้จําเลยที่ ๑๘ ต้องหาแหล่งเงินทุนให้แก่จําเลยที่ ๒๐ ด้วย จึงแจ้งชัดว่าจําเลยที่ ๒๐ ไม่อยู่ในฐานะที่จะซื้อที่ดินจากจําเลยที่ ๑๘ ได้ตามที่กล่าวอ้าง ดังนั้นข้อที่ว่าจําเลยที่ ๑๘ จะนําเงินกําไรที่ได้ จากการขายที่ดินมาชําระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้เสียหายได้ จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยปราศจากเหตุผลและไม่มีข้อมูลใดๆ สนับสนุน ส่วนโครงการที่จําเลยที่ ๑๙ นําเสนอเพื่อขออนุมัติสินเชื่อนั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่ วงเงินที่ขอสินเชื่อสูงถึง ๑๑,๖๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่มีเอกสารแนบมาด้วยเพียง๒ รายการ คือ ผังโครงการและประมาณการทางการเงิน ภายหลังธนาคารผู้เสียหายมีหนังสือแจ้งให้จําเลยที่ ๑๙ จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม จึงมีการส่งสําเนาโฉนดที่ดิน รายงานการประเมินโดยผู้ประเมิน ๒ ราย แผนการก่อสร้าง รายงานสิ่งแวดล้อม ส่วนการตลาด ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสําหรับรายงานความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการเพิ่งจัดทําเสร็จหลังจากยื่นคําขอสินเชื่อในวันที่๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ แสดงว่าขณะยื่นคําขอสินเชื่อจําเลยที่ ๑๙ ยังไม่ได้จัดทํารายละเอียดของข้อมูลที่จําเป็นของโครงการ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงมีข้อน่าสงสัยว่าจําเลยที่ ๑๙ มีความตั้งใจที่จะทําโครงการจริงหรือไม่ เมื่อพิจารณาประมาณการทางการเงินรายการค่าพัฒนาที่ดิน๒,๔๖๒,๑๑๔,๗๖๑ บาทก็มีแต่ประมาณการค่าก่อสร้าง ไม่มีแบบก่อสร้างหรือรายละเอียดประกอบแบบ ส่วนรายงานการประเมินราคาหลักประกันของบริษัท ซาลแมนน์ (ฟาร์อีสท์) จํากัด ผู้ประเมินก็เพิ่งออกสํารวจในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
เป็นวันเดียวกับที่จําเลยที่ ๑๙ ยื่นคําขอสินเชื่อและเพิ่งจัดทํารายงานการประเมินราคาที่ดินหลักประกันส่งให้ธนาคารผู้เสียหายในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เป็นการจัดทําขึ้นอย่างเร่งรีบ ทําให้มีข้อผิดพลาดเช่น ตามรายงานการประเมินราคาดังกล่าวระบุว่าได้ใช้แนวทางการพัฒนาเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่ปลอดภาระศุลกากร โดยรายการค่าก่อสร้างด่านศุลกากร ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งๆ ที่จําเลยที่ ๑๙ไม่ได้ขอสินเชื่อเพื่อทําโครงการปลอดศุลกากร ข้อมูลต่างๆ ที่จําเลยที่ ๑๙ นําเสนอมาทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีข้อมูลสนับสนุน ไม่มีการวิจัยหรือสํารวจทางการตลาดที่ดินในโครงการยังมีบุคคลภายนอกถือกรรมสิทธิ์รวมกับจําเลยที่ ๑๙ และบริษัท เคแอนด์วี เอสอาร์ เอส การ์เด้นโฮม จํากัด ๒๕ แปลง คิดเป็นสัดส่วนกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอกถึง ๑๘๘ ไร่ จําเลยที่ ๑๙ ไม่มีแผนงานหรือแนวทางที่จะได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยวิธีใด ด้วยงบประมาณจํานวนเท่าใดหากไม่อาจรวบรวมจัดซื้อที่ดินจากบุคคลภายนอกให้เชื่อมต่อกันทั้งแปลงย่อมไม่อาจดําเนินโครงการได้ ประการสําคัญจําเลยที่ ๑๙ ไม่มีแผนงานเกี่ยวกับระยะเวลาเริ่มลงมือดําเนินโครงการ ไม่มีแผนงานการพัฒนา เป็นรายไตรมาส ไม่มีใบอนุญาตจัดสรร ไม่มีแบบก่อสร้าง ไม่มีแบบพัฒนาสาธารณูปโภค ไม่มีแม้แต่ แบบพิมพ์เขียวภาพรวมของโครงการ ที่จําเลยที่ ๑๙ อ้างว่าจะมีจําเลยที่ ๒๐ เป็นพันธมิตรร่วมในการลงทุนโดยมีบันทึกความเข้าใจกับจําเลยที่ ๒๐ โดยตกลงให้จําเลยที่ ๒๐ เป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพร้อมบริหารโครงการและการขาย ซึ่งตลอดโครงการต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น๔,๔๙๖,๐๐๐,๐๐๐ บาทแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จําเลยที่ ๒๐ ไม่อยู่ในฐานะที่จะหาเงินมาร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคร่วมกับจําเลยที่ ๑๙ ได้ดังวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ในขณะที่จําเลยที่ ๑๘ และที่ ๑๙ขอสินเชื่อนั้น จําเลยทั้งสองมีฐานะการเงินไม่มั่นคง ความสามารถในการหารายได้ต่ําจนไม่น่าเชื่อว่าจะชําระหนี้ได้ มีเหตุอันควรสงสัยว่าไม่ได้ประกอบธุรกิจจริงจังและไม่ปรากฏรายได้เพียงพอที่จะชําระหนี้ได้ เข้าลักษณะ เป็นลูกหนี้ที่ไม่อาจชําระหนี้ได้หรืออาจชําระหนี้ได้ยาก ซึ่งต้องห้ามให้สินเชื่อตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การให้สินเชื่อที่เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๒ และคําสั่งธนาคารกรุงไทยที่ ธ.๒๒๒/๒๕๔๕ เรื่อง นโยบายสินเชื่อ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๔๕ ข้อ ๓.๑.๓ ข้อย่อย ๒ ก.การที่ธนาคารผู้เสียหายอนุมัติสินเชื่อให้แก่จําเลยที่ ๑๘ จํานวน ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และอนุมัติสินเชื่อให้แก่จําเลยที่ ๑๙ จํานวน๙,๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนกรณีที่ธนาคารผู้เสียหายขายหุ้นบุริมสิทธิของจําเลยที่ ๒๐ ให้แก่จําเลยที่ ๒๒ ราคารวม๑,๑๘๕,๗๓๕,๓๘๐ บาท
ด้วยการให้เครดิตชําระเงินภายใน ๔ เดือน แม้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕จะมิได้นิยามการให้สินเชื่อว่ารวมถึงกรณีการเป็นเจ้าหนี้อันเนื่องจากการขายหุ้นด้วยการให้เครดิตซึ่งเป็นหลักทรัพย์ไว้ด้วย แต่เมื่อพิจารณาคําสั่งที่ ธ.๑๕๓/๒๕๔๖ เรื่อง อํานาจในการอนุมัติสินเชื่อและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ข้อ ๒.๑ คํานิยาม ๒.๑.๙ ที่ว่า สินเชื่อ หมายถึง เงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันและคําสั่งที่ ธ.๒๒๒/๒๕๔๕ เรื่อง นโยบายสินเชื่อ ข้อ ๒.๕ ว่าด้วยความเสี่ยงในการให้สินเชื่อในข้อ ๒.๕.๔ ที่ว่าความเสี่ยงจากการชําระเงินหมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเมื่อต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างคู่สัญญาในวันเวลาเดียวกัน ซึ่งธนาคารทําธุรกรรมในส่วนที่รับผิดชอบแล้วแต่ไม่ได้รับสิ่งแลกเปลี่ยนกลับมาจากคู่สัญญา จึงแปลงสภาพเป็นความเสี่ยงจากการให้กู้ยืมโดยตรงแล้วย่อมเห็นได้ว่าการขายหุ้นบุริมสิทธิของจําเลยที่ ๒๐ ให้แก่จําเลยที่ ๒๒ โดยให้เครดิตชําระเงินภายใน ๔ เดือน ถือเป็นการให้สินเชื่ออย่างหนึ่ง จึงจําต้องปฏิบัติตามระเบียบและคําสั่งที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อเช่นกัน ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนว่า จําเลยที่ ๓ เจรจากับจําเลยที่ ๒๕และได้ข้อยุติว่าให้จําเลยที่ ๒๕ หาตัวแทนมาซื้อหุ้นบุริมสิทธิในราคา ๑๐ บาท บวกต้นทุนในการถือครอง (carrying cost) ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ําที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบกําหนดระยะเวลา (MLR) โดยให้เวลาชําระเงินค่าหุ้น ๔ เดือน แต่ขณะนั้นยังไม่ทราบได้ว่าจําเลยที่ ๒๕ จะใช้บริษัทใดเป็นผู้ซื้อ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๖ คณะกรรมการบริหารธนาคารผู้เสียหายจึงมีมติให้เจรจาขายหุ้นบุริมสิทธิ ๑๑๘,๕๗๓,๕๓๘ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาทบวกด้วย carrying cost ในอัตรา MLR ให้แก่ผู้ที่แสดงความสนใจ หากไม่สามารถดําเนินการได้ ให้ใช้สิทธิออกเสียงคัดค้านการลดทุนหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมด รวมทั้งใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ยับยั้งการลดทุนหุ้นบุริมสิทธิ หากเสียงส่วนใหญ่อนุมัติการลดทุนหุ้นบุริมสิทธิเห็นควรให้ใช้สิทธิเพิ่มทุนเพื่อรักษาสิทธิในการรับใบสําคัญแสดงสิทธิ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖ ธนาคารผู้เสียหายโดยจําเลยที่ ๕ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ทําสัญญาขายหุ้นบุริมสิทธิให้แก่จําเลยที่ ๒๒ กําหนดชําระราคาค่าหุ้นวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗ โดยไม่มีการวิเคราะห์ความสามารถในการชําระหนี้ของจําเลยที่ ๒๒ตามนโยบายสินเชื่อ ทั้งมีการมอบฉันทะให้จําเลยที่ ๒๒ ไปออกเสียงลงคะแนนในการประชุมผู้ถือหุ้นของจําเลยที่ ๒๐ ทั้งที่ยังไม่มีการชําระค่าหุน จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อคําสั่งที่ ธ.๒๒๒/๒๕๔๕เรื่อง นโยบายสินเชื่อ ข้อ ๒.๕ ว่าด้วยความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ ในข้อ ๒.๕.๔ จึงเป็นการกระทําที่ไม่ชอบ
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือ คตส. มีอํานาจดําเนินคดีแก่จําเลยที่ ๑ และได้ทําการไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จําเลยที่ ๑ โต้แย้งว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ในปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองในคดีหมายเลขแดงที่ ๑/๒๕๕๐เคยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ตามคําวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๑ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๑ วรรคท้าย กําหนดว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจึงต้องถือตามคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว คตส. จึงมีอํานาจดําเนินคดีแก่จําเลยที่ ๑ ได้ การกระทําของ คตส.ชอบด้วยกฎหมายแล้วปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จําเลยที่ ๑ ร่วมกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะเสียงข้างมาก เห็นว่า โจทก์มี นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตกรรมการบริหารธนาคารผู้เสียหายมาไต่สวนได้ความว่า พยานรู้จักจําเลยที่ ๒ จําเลยที่ ๒ เป็นน้องชายของ ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลของจําเลยที่ ๑ พยานเข้าร่วมการประชุมพิจารณาอนุมัติให้สินเชื่อให้แก่จําเลยที่ ๑๙ คณะกรรมการบริหารธนาคารผู้เสียหายมีจํานวน ๕ คน ได้แก่ พยานนายอุตตม สาวนายน จําเลยที่ ๒ ที่ ๓และที่ ๔ คณะกรรมการดังกล่าวมีขอบเขตอํานาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการธนาคารมอบอํานาจ เช่น พิจารณากลั่นกรองหรืออนุมัติสินเชื่อ ปรับปรุงหนี้และตัดหนี้สูญตามอํานาจที่กําหนด พิจารณากลั่นกรองหรืออนุมัติการลงทุนหรือขายหลักทรัพย์ ที่ธนาคารผู้เสียหายลงทุน ขณะเกิดเหตุคณะกรรมการบริหารมีจําเลยที่ ๓ เป็นกรรมการผู้จัดการคณะกรรมการบริหารมีหน้าที่พิจารณาสินเชื่อนอกเหนือจากอํานาจของคณะกรรมการสินเชื่อระดับต่างๆซึ่งมีวงเงินสูงเกินกว่า๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยธนาคารผู้เสียหายกําหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อไว้ โครงการที่จําเลยที่ ๑๙ ขออนุมัติสินเชื่อเป็นโครงการ
เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิและต้องใช้วิธีการรวบรวมที่ดินแปลงใหญ่จํานวนถึง๔,๐๐๐ ไร่ ทั้งโครงการของเอกชนไม่สามารถออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินได้ จากการตรวจสอบสถานภาพทางการเงินของจําเลยที่ ๑๙พบว่าไม่สามารถชําระหนี้ได้เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด ในวันประชุมพยานได้รับโทรศัพท์ จากจําเลยที่ ๒ แจ้งในทํานองว่า เรื่องของจําเลยที่ ๑๙ นั้น”ซุปเปอร์บอส”ตกลงแล้วอย่าสอบถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว พยานเข้าใจว่าการพูดในลักษณะนี้หมายถึงการสั่งเพราะพยานทราบนิสัยของจําเลยที่ ๒ พยานเข้าร่วมประชุมกับจําเลยที่ ๒ หลายครั้ง คําว่า”ซุปเปอร์บอส”พยานเข้าใจว่าหมายถึงจําเลยที่ ๑ พยานเคยได้ยินจําเลยที่ ๒ ใช้สรรพนามว่า”ซุปเปอร์บอส”หรือ”บิ๊กบอส” เมื่อกล่าวอ้างถึงจําเลยที่ ๑ พยานเชื่อว่าจําเลยที่ ๑ น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนให้มีการอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทจําเลยที่ ๑๙ เพราะโดยปกติธนาคารผู้เสียหายจะไม่ค่อยอนุมัติสินเชื่อรายใหญ่ และพนักงานของธนาคารมีศักยภาพในการวิเคราะห์สินเชื่อน้อย เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นต่อมาภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ รัฐบาลมีนโยบายให้ธนาคารผู้เสียหายปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารผู้เสียหายจึงปล่อยสินเชื่อร่วมกับธนาคารพาณิชย์อื่น แต่กรณีจําเลยที่ ๑๙ธนาคารผู้เสียหายกลับปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เพียงลําพัง เป็นเรื่องผิดปกติจึงต้องมีการสั่งการจากผู้มีอํานาจระดับสูงอย่างแน่นอน ในการประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารผู้เสียหายเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๖มีกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุม ๕ คน การพิจารณาสินเชื่อรายจําเลยที่ ๑๙ เป็นสินเชื่อรายใหญ่ เสนอวาระอันดับต้น ปกติต้องให้หัวหน้าสายงานเป็นผู้นําเสนอ แต่ในวันดังกล่าว นายไพโรจน์ รัตนโสภาหัวหน้าสายงานสินเชื่อไม่อยู่ในที่ประชุม มีเพียงเจ้าหน้าที่สายงานเป็นผู้นําเสนอแทน พยานทักท้วงแล้วว่าพิจารณาไม่ได้ พยานเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่น่าเป็นไปได้ และไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่ดินที่ตั้งโครงการมีปัญหาเรื่องการรวมที่ดิน ความสามารถในการบริหารงานของผู้บริหารจําเลยที่ ๑๙ และที่ ๒๐ไม่เพียงพอเพราะมีภาระหนี้กับหลายสถาบันการเงิน การศึกษาโครงการเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้นไม่มีรายละเอียดชัดเจน พยานยืนยันว่าในการประชุมดังกล่าวพยานไม่ได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติสินเชื่อรายนี้พยานเคยให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเมื่อวันที่๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ว่า ก่อนประชุมคณะกรรมการบริหารธนาคารผู้เสียหาย ครั้งที่ ๔๘/๒๕๔๖เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ จําเลยที่ ๒ โทรศัพท์แจ้งพยานว่า อย่าคัดค้านโครงการที่จําเลยที่ ๑๙ ขอสินเชื่อ
เนื่องจาก นายบุญคลี ปลั่งศิริ ได้ประสานมาว่า”ซุปเปอร์บอส” ได้ดูโครงการแล้วเป็นโครงการที่ดีขณะนั้น นายบุญคลี ดํารงตําแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จํากัด ซึ่งจําเลยที่ ๑เป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ คําว่า”ซุปเปอร์บอส” หมายถึงจําเลยที่ ๑ หรือ คุณหญิงพจมาน ชินวัตรเนื่องจากจําเลยที่ ๒ ชอบพูดภาษาอังกฤษ และเมื่อจะกล่าวถึงจําเลยที่ ๑ หรือ คุณหญิงพจมานก็จะใช้คําแทนว่า”ซุปเปอร์บอส” เสมอ จําเลยที่ ๑ เป็นผู้แต่งตั้งพี่ชายของจําเลยที่ ๒ คือ ร้อยเอก สุชาติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต่อมาวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐พยานให้การเพิ่มเติมว่า จําเลยที่ ๑ คุณหญิงพจมาน หรือบุคคลใกล้ชิดเข้าแทรกแซงการบริหารงานของธนาคารผู้เสียหาย โดยปรากฏชัดเจนภายหลังมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจาก นายสมคิด เป็น ร้อยเอก สุชาติ กรณี คุณหญิงพจมาน มีวิธีการเข้าแทรกแซง โดยให้คนใกล้ชิดติดต่อซื้อทรัพย์สินอันเกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารผู้เสียหายเป็นประจําและได้รับเงื่อนไขพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป คําว่า”ซุปเปอร์บอส” หมายถึงจําเลยที่ ๑ เพราะหากเป็น คุณหญิงพจมานต้องมีชื่อ นางสว่าง มั่นคงเจริญ คนใกล้ชิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ตามทางไต่สวนแม้จะได้ความจาก นายชัยณรงค์ ว่านายชัยณรงค์ ได้รับโทรศัพท์จากจําเลยที่ ๒ แจ้งว่า เรื่องของจําเลยที่ ๑๙”ซุปเปอร์บอส” ตกลงแล้วอย่าสอบถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว มีลักษณะเป็นการสั่ง คําว่า”ซุปเปอร์บอส”น่าจะหมายถึงจําเลยที่ ๑ ซึ่งดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ จําเลยที่ ๒ ใช้สรรพนาม “ซุปเปอร์บอส” หรือ “บิ๊กบอส” เมื่อกล่าวอ้างถึงจําเลยที่ ๑ เชื่อว่าจําเลยที่ ๑ น่าจะมีส่วนในการสนับสนุนให้มีการอนุมัติสินเชื่อให้แก่จําเลยที่ ๑๙ แต่ นายชัยณรงค์ เคยให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐว่า คําว่า”ซุปเปอร์บอส” หมายถึงจําเลยที่ ๑หรือ คุณหญิงพจมาน เมื่อจําเลยที่ ๒ จะกล่าวถึงจําเลยที่ ๑ หรือ คุณหญิงพจมาน ก็จะใช้คําแทนว่า “ซุปเปอร์บอส” เสมอ อันเป็นคําให้การที่ขัดแย้งกัน ทั้งการเบิกความเกี่ยวกับคําว่า “ซุปเปอร์บอส”หรือ”บิ๊กบอส” ว่าหมายถึงจําเลยที่ ๑ เป็นเพียงการคาดเดาไปตามความเข้าใจของ นายชัยณรงค์ เองนายชัยณรงค์ ไม่เคยรู้จักจําเลยที่ ๑ เป็นการส่วนตัว เพียงแต่อ้างว่าจําเลยที่ ๒ โทรศัพท์มาบอกว่าซุปเปอร์บอส ตกลงแล้ว อย่าถามข้อมูลมากนักและขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว จึงเป็นกรณีที่ นายชัยณรงค์ รับฟ้งมาจากจําเลยที่ ๒ อีกชั้นหนึ่ง ซุปเปอร์บอส จะเป็นผู้ใด คงมีเพียงจําเลยที่ ๒ เท่านั้นที่จะยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวได้หรืออาจเป็นข้อกล่าวอ้างของจําเลยที่ ๒ เองก็เป็นได้
แม้ นายชัยณรงค์จะเบิกความในชั้นไต่สวนว่า นายชัยณรงค์ ไม่ได้อนุมัติสินเชื่อและโต้แย้งไม่เห็นชอบกับการให้สินเชื่อรายนี้แต่ นายชัยณรงค์ เบิกความรับว่า คณะกรรมการบริหารมี ๕ คน คือ นายชัยณรงค์ นายอุตตมจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ การอนุมัติสินเชื่อต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารทั้ง ๕ คนหาก นายชัยณรงค์ โต้แย้งไม่เห็นชอบก็น่าจะปรากฏในรายงานการประชุมบ้าง แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งหาก นายชัยณรงค์ ไม่อนุมัติเห็นชอบให้สินเชื่อแล้ว ธนาคารผู้เสียหายจะจ่ายเงินสินเชื่อให้แก่ จําเลยที่ ๑๙ ได้อย่างไร นายชัยณรงค์ ไม่เคยโต้แย้งว่ายังไม่มีการอนุมัติสินเชื่อรายนี้ เพิ่งมาโต้แย้งเมื่อมีการดําเนินคดีแล้ว พยานปาก นายชัยณรงค์ จึงเป็นพยานที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวจึงควรรับฟ้งด้วยความระมัดระวัง ส่วนพยานปาก นายอุตตม ก็ได้ความเพียงว่าก่อนการประชุมนายชัยณรงค์ สอบถามที่หน้าห้องประชุมเพียงว่า จําเลยที่ ๒ ได้โทรศัพท์มาถึง นายอุตตม หรือไม่ นายอุตตม ตอบว่า จําเลยที่ ๒ ไม่ได้โทรศัพท์มาหาตน การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้จําเลยที่ ๑๙ในส่วนของ นายอุตตม จึงมิได้เกิดจากจําเลยที่ ๒ โน้มน้าวให้อนุมัติเพราะได้รับคําสั่งจากจําเลยที่ ๑พยานปาก นายอุตตม จึงเป็นพยานบอกเล่าเช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมายังไม่มีน้ําหนักรับฟ้งได้ว่าจําเลยที่ ๑ สั่งการผ่านจําเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้อนุมัติสินเชื่อดังกล่าว จําเลยที่ ๑ จึงไม่มีความผิดตามฟ้องพิพากษายกฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยที่๑
นายวิชัย เอื้ออังคณากุล
นายชํานาญ รวิวรรณพงษ์
นายอนันต์ วงษ์ประภารัตน์
นายโสฬส สุวรรณเนตร์
นายวุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์
นายจินดา ปัณฑะโชติ
นายธงชัย เสนามนตรี
นายวิรุฬห์ แสงเทียน
นายนิพนธ์ ใจสําราญ