บิ๊กตู่กล่าวเปิดการประชุม Mekong-ROK Commemorative Summit ครั้งที่ 1 ณ เกาหลีใต้
นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวเปิดในฐานะประธานร่วมประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในการประชุม Mekong-ROK Commemorative Summit ครั้งที่ 1 เพื่อยกระดับความร่วมมืออนุภูมิภาค
วันนี้ (วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2562) เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครปูซาน) ณ ห้องประชุมผู้นำ ชั้น 3 ศูนย์การประชุมนูริมารู เอเปค เฮาส์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 โดยเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีและนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอาเซียนเป็นประธานร่วมกัน นอกจากนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี มีผู้นำจากประเทศสมาชิกอีก 4 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรีลาว ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีได้รับเกียรติให้กล่าวเปิดการประชุมในฐานะประธานร่วม โดยศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้เป็นประธานร่วมกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ขอบคุณที่สาธารณรัฐเกาหลีให้ความสำคัญต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่จึงเป็นโอกาสในการยกระดับความร่วมมือสู่ระดับสูงสุด และถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ร่วมกันทบทวนความคืบหน้าของการดำเนินความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ภายใต้ปฏิญญาแม่น้ำฮัน รวมทั้งร่วมกันหารือแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือในอนาคต โดยการปรับสาขาความร่วมมือให้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) ของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งกำหนด 3 P ได้แก่การส่งเสริมการพัฒนาที่เน้นประชาชน(People) ความเจริญรุ่งเรือง(Prosperity) และสันติภาพ(Peace) เพื่อตอบสนองกับสถานการณ์ของโลกยุคปัจจุบันที่สะท้อนให้เห็นการปรับตัวเข้าหากัน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง “แผนปฏิบัติการ” ฉบับแรก ภายใต้ “แผนแม่บท ACMECS” (ACMECS Master Plan) ซึ่งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้รับรองเมื่อปี 2561 เน้นเรื่องความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีจึงเห็นว่า แผนแม่บท ACMECS และนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลีเป็นนโยบายและเครื่องมือที่สะท้อนให้เห็นการปรับตัวเข้าหากัน นายกรัฐมนตรีหวังว่าไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลี และเป็นประเทศที่ตั้งของสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute – MI) จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันความร่วมมืออย่างไร้รอยต่อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่า กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงมีพลวัต และเป็นรูปธรรม มีกลไกที่เป็นระบบ ได้แก่ มีการปรุงแผนปฏิบัติการทุก 5 ปี มีเงินทุนผ่านกองทุน และ มีองค์กรดำเนินงาน (สถาบัน MI) ตลอดจนยังให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณฝ่ายเกาหลีที่ได้ยกร่างปฏิญญาแม่น้ำโขง-แม่น้ำฮัน เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม โดยจะเป็นเอกสารสำคัญในการกำหนดแนวทางและการดำเนินความร่วมมือในระยะต่อไป เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการของกรอบความร่วมมือฯ ให้เป็นรูปธรรมและตอบสนองความต้องการของประชาชนในอนุภูมิภาคอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ต่อการกำหนดกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ฉบับที่ 3 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2564 โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำหลัก 3P ดังนี้ 1 การพัฒนาประชาชนเพื่อสังคมที่ครอบคลุม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิต สนับสนุนความใกล้ชิดระหว่างประชาชนโดยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ตลอดจนการดูแลสุขภาพประชาชนด้วยระบบสุขภาพถ้วนหน้า 2 การส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองโดยการแบ่งปันประสบการณ์ ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมือต่าง ๆ หรือ Connecting the Connectivities และใช้ประโยชน์จากกลไกการประชุมภาคธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-ROK Business Forum) โดยไทยได้เตรียมความพร้อมโดยการดำเนินโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สามารถสนับสนุนการลงทุนของสาธารณรัฐเกาหลีให้เชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค และ 3 การส่งเสริมสันติภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการจัดการกับความท้าทายต่อความมั่นคงรูปแบบใหม่เป็นวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและน่าชื่นชม ไทยพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี และขอเสนอให้ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศที่ทันสมัยของสาธารณรัฐเกาหลีในการพยากรณ์สภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งในระยะยาวเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรอง ปฏิญญาแม่น้ำโขง-แม่น้ำฮัน เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม
ภาพจาก: รัฐบาลไทย