ข่าวการเมือง

เพื่อไทยแนะ จัดงบประมาณปี 63 หยุดแจก ใช้งบสร้างงาน สร้างการแข่งขัน

เพื่อไทยแนะ จัดงบประมาณปี 63 หยุดแจก ใช้งบสร้างงาน สร้างการแข่งขัน

งบประมาณแผ่นดิน ปี63พรรคเพื่อไทย รายงาน (14 ต.ค. 62) ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดทำงบฯ ปี 2563 ว่า การจัดทำงบประมาณของประเทศเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ต้องทำอย่างมีทิศทาง ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และต้องเข้าใจปัญหาของประเทศ ทั้งนี้ตนมองว่าทิศทางหลักของงบประมาณประเทศ ควรจะเป็นดังนี้

1. หยุดหว่านแห : งบประมาณไทยไม่ได้มีมากพอที่จะถูกกระจายแบบหว่านแห ไร้การคัดกรองถึงความจำเป็นของผู้รับ การใช้งบประมาณต้องเล็งถึงผลลัพธ์จากตัวคูณทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การใช้งบประมาณที่ไม่คัดกรองผู้รับแบบ “มาตรการ ชิม ช้อป ใช้” โดยหลักมาก่อนได้ก่อน ใครก็ได้ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง การใช้งบประมาณควรมีจำเพาะเจาะจงสูง โดยหวังผลกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ส่งถึง

Advertisements

2. หยุดแจกแบบให้เปล่า : การใช้งบประมาณไปกับนโยบายแจกต่างๆ ต้องระมัดระวัง ควรหยุดใช้งบประมาณกับการกระตุ้นเป็นครั้งๆ แล้วหมดไปอย่างที่ทำอยู่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แจกเงินเที่ยว เที่ยวครั้งเดียวหมด หมดแล้วก็ไม่เที่ยวต่อ ทำไมไม่เอาเงินไปลงทุนกับแหล่งท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว สำหรับการแจกเบี้ยด้านสวัสดิการ คำว่ารัฐสวัสดิการไม่เคยเกิดจากการแจกเบี้ย แต่ต้องเกิดจากการเอาเบี้ยยึดโยงกับ “แรงจูงใจ” ให้คนเข้าสู่ “ตลาดแรงงานเพื่อสร้างรายได้” เช่นประเทศแถบสแกนดิเนเวียร์ที่มุ่งเน้น Active Welfare ในการนำไปสู่ “รัฐสวัสดิการ” ที่ยั่งยืน

3. ใช้งบประมาณสร้างอุตสาหกรรมใหม่ : เรามีความจำเป็นต้องเอางบประมาณไปสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นหัวหอกการพัฒนา สงครามการค้าที่กระทบความสามารถในการส่งออกของจีน ตรงนี้เป็นโอกาส งบประมาณต้องเปลี่ยนไปสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไทยเคยเป็นห่วงโซ่การผลิตให้กับจีน ให้กลายเป็นผู้ผลิตหลักเองให้ได้ งบประมาณต้องทุ่มเทเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ให้แข่งขันได้และได้เปรียบบนเวทีโลก

4. ใช้งบประมาณไปสร้างงาน สร้างผลิตภาพ : ปัญหาหลักของไทย คือ การอ่อนตัวของกำลังซื้อ ซึ่งเกิดจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำเป็นเวลานาน งบประมาณต้องถูกระดมไปแก้ที่ “คุณภาพและผลิตภาพ” ของพืชผลการเกษตร ไม่ใช่ทุ่มงบเพื่อ “การพยุงราคา” อย่างเดียว นอกจากนั้นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยไม่ผูกกับการพัฒนาผลิตภาพและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ เป็นการหมักหมมปัญหา เหมือนเป็นการให้กู้มาทำสิ่งเดิมๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ สิ่งที่ควรทำคืองบประมาณควรจะสนับสนุนไปที่การสร้างงาน สร้างตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น สร้างให้คนมีงานทำ อย่าลืมว่าคนจะใช้จ่ายก็ต่อเมื่อคนมีความมั่นใจใน “กระแสรายได้ระยะยาว” ไม่ใช่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เป็นครั้งๆ จากการแจกแบบให้เปล่า

5. ใช้งบประมาณไปสร้างการแข่งขัน : งบประมาณต้องไปสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ อย่าลืมว่าการแข่งขันเป็นการบีบบังคับให้คนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ผลิตต้องพัฒนาความสามารถของตนให้สูงขึ้นเพื่อให้แข่งขันได้ ต้องลงทุน ต้องสร้างนวัตกรรม นี่คือ “หัวใจหลักของการพัฒนา” งบประมาณต้อง “เข้าไปอุ้ม” คนเก่งแต่ขาดโอกาสในสังคม ให้สามารถเข้าสู่สนามแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม เป็นการแก้จน ลดความเลื่อมล้ำที่ดีที่สุด

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button