ข่าวการเมือง

ปิยบุตรโต้บิ๊กแดง บรรยาย 8 ข้อ Hybrid Regime ระบอบลูกผสม

ปิยบุตรโต้บิ๊กแดง บรรยาย 8 ข้อ Hybrid Regime ระบอบลูกผสม

บิ๊กแดง – จากกรณีวันที่ 11 ตุลาคม พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นอย่างมาก

ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอาคตใหม่ ได้เปิดการบรรยายในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองประชาธิปไตย : บทบาทของประชาชนในการสร้างชาติ”

Advertisements

นายปิยบุตรระบุว่า ในการบรรยายของ บิ๊กแดง หรือ พล.อ.อภิรัชต์ มีการกล่าวถึงนักการเมือง พรรคการเมือง แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อตรง ๆ แต่ฟังแล้วสามารถประมวลได้ว่าหมายถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ การบรรยายของตนในครั้งนี้จึงมีขึ้นเพื่อตอบโต้พล.อ.อภิรัชต์

ในตอนหนึ่ง นายปิยบุตรเสนอข้อถกเถียงกับกรณี Hybrid Warfare หรือ สงครามลูกผสม ระบุว่า “เมื่อวานนี้ ท่านผู้บัญชาการทหารบกได้พูดถึง Hybrid Warfare หรือ สงครามลูกผสม แต่ท่านจะทราบหรือไม่ว่า นานาอารยประเทศทั่วโลกมองประเทศไทยในยุคปัจจุบันว่าเป็น Hybrid Regime หรือ ระบอบลูกผสม หัวมังกุท้ายมังกร ผสมปนเปกันมั่วจนเป็นระบอบที่เรียกชื่อไม่ได้

Hybrid Warfare ของท่านผู้บัญชาการทหารบกมีทั้งหมด 8 ข้อ Hybrid Regime เองก็มีลักษณะอยู่ 8 ข้อเช่นกัน”

1) “เผด็จการที่มีการเลือกตั้ง”

หากเราพูดถึงเรื่องเลือกตั้ง เราก็ต้องคิดว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ Hybrid Regime กลับบอกว่ามีการเลือกตั้ง แต่ยังคงคราบไคลของเผด็จการอยู่ เป็นเผด็จการที่ยังมีการเลือกตั้งนั่นเอง

Advertisements

บทพิสูจน์ คือ การเลือกตั้งกลายเป็นเพียงเครื่องมือของการสืบทอดอำนาจ กลายเป็นเครื่องประดับแต่งหน้าทาปากเพื่อไปอวดอ้างกับชาวโลกว่า ประเทศไทยนั้นกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว เรามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ปรากฏว่า เมื่อตีจากคะแนนเสียงที่ลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่ประกาศชัดเจนว่าไม่เอาการสืบทอดอำนาจคสช. รวมกันแล้วประมาณ 24 ล้านเสียง คิดเป็น 2 ใน 3 ของเสียงทั้งหมด แต่คะแนนนี้ไม่ได้สะท้อนออกมาในความเป็นจริง เพราะในท้ายที่สุด รัฐบาลคสช.ก็ยังสืบทอดอำนาจได้อยู่

สาเหตุที่สำคัญที่สุดมาจากกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีวุฒิสภา 250 คน ได้มาจากการเลือกของหัวหน้าคสช. และวุฒิสภาเหล่านี้ก็กลับไปเลือกพลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังไม่นับรวมถึง รัฐบาลที่เกิดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญนี้ ท่านจะถูกควบคุมกลไกต่างๆ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระต่างๆ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ และสุดท้าย กองทัพ

2) “อุดมการณ์บังหน้าเพื่อผลประโยชน์”

ปัจจุบัน มีการอ้างเองอุดมการณ์เต็มไปหมด แต่ในความเป็นจริง เบื้องหลังยังมีเรื่องของผลประโยชน์อยู่ ผู้นำทหารมีผลประโยชน์แอบแฝง อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การรับตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ กลับนำเอาอุดมการณ์มาใช้กลบเกลื่อนประเด็นผลประโยชน์

พรรคอนาคตใหม่ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์นายทหารชั้น นายตำรวจ หรือ ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติงานจริงแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่เรายืนยันมาโดยตลอด คือ “อำนาจต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบและการตรวจสอบ” เมื่อใดก็ตามที่องค์กรใดมีอำนาจ จำเป็นจะต้องถูกตรวจสอบ นักการเมืองไทยพร้อมที่จะถูกตรวจสอบตลอดเวลา

ผมเข้ามาในสมรภูมิทางการเมืองเอง ก็ถูกตรวจสอบตั้งแต่ต้นจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น องค์กรใดก็ตามที่ถืออำนาจสาธารณะจะต้องพร้อมในการถูกตรวจสอบอย่างถึงที่สุด

3) “โครงการช่วยคนจนแต่เอื้อทุนใหญ่”

เรามีโครงการของรัฐบาลจำนวนมากที่บอกว่าจะต้องช่วยเหลือประชาชน จริงอยู่ที่ว่าอาจช่วยคนจนและชนชั้นกลางในระยะสั้น แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็กลับไปเอื้อทุนใหญ่ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการชิม ช็อป ใช้ เป็นต้น นักวิชาการจำนวนไม่น้อยท้วงติงว่าไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และมีโอกาสจะเข้ากระเป๋ากลุ่มทุนใหญ่มากกว่า

เหตุใดเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม เรื่องการทลายทุนผูกขาด จึงไม่ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง

4) “สัมปทานรัฐที่ไม่ได้ทำเพื่อรัฐ”

เมื่อได้ยินคำว่า “สัมปทานของรัฐ” แล้ว น่าจะเข้าใจตรงกันว่าสัมปทานนี้ควรจะให้ประโยชน์แก่รัฐ แต่ในท้ายที่สุด โครงการลงทุนจำนวนมากที่อาจต้องทำเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง EEC ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม กระทบกระเทือนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากจะให้ประโยชน์แก่รัฐแล้ว สัมปทานของรัฐที่ดีจำเป็นต้องพิจารณาคำนึงประชาชนในพื้นที่ด้วย สัมปทานต้องดีต่อรัฐ รัฐคือประชาชน ประโยชน์ของประชาชนคือประโยชน์ของชาติ

5) “ล่าอาณานิคมภายใน”

ท่านผู้บัญชาการทหารบกยังได้กล่าวย้อนหลังไปไกลถึงประวัติศาสตร์สมัยล่าอาณานิคม ซึ่งนับเป็นการดีที่ช่วยกระตุ้นให้เราพูดคุยประวัติศาสตร์ไทยกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรากล่าวกันว่าประเทศไทยนั้นเป็นเอกราช ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่นักวิชาการประวัติศาสตร์จำนวนมากก็วิเคราะห์ว่า เราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่นก็จริง แต่เรามีการล่าอาณานิคมภายใน

ท่านต้องย้อนกลับไปที่ความคิดตั้งแต่แรกเริ่ม นักประวัติศาสตร์เห็นตรงกันว่า “ความเป็นชาติ” เพิ่งจะถูกเขียนขึ้นมา ก่อนหน้านั้น เรายังเป็นหัวเมืองต่างๆ ที่ปกครองกันเอง หัวเมืองจากกรุงเทพก็มีความพยายามไปล่าอาณานิคมหัวเมืองอื่นๆ ตามภาคเหนือ ภาคอีสาน เราเรียกสิ่งนี้ในทางวิชาการกันว่า “การล่าอาณานิคมภายใน”

6) “ประวัติศาสตร์ที่ไร้ประชาชน”

ประวัติศาสตร์ของเราเป็นประวัติศาสตร์ที่แทบจะไม่มีประชาชนปรากฏอยู่เลย ถ้าหากท่านไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ คงเคยเห็นการให้ความสำคัญกับคนท้องถิ่น ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน กล่าวคือ การเขียนประวัติศาสตร์ตามหลักสากลในทุกวันนี้พยายามแสดงให้เห็น “ประชาชน” มากที่สุด

ชาติ’ จะเป็นของทุกคนได้ ก็ต่อเมื่อเรามีประวัติศาสตร์ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

7) “ถอยกลับกรมกองแต่ตบเท้าเป็นระยะ”

ผู้บัญชาการทหารบกยืนยันว่า ท่านถอยหลัง (Step back) ไปแล้ว ท่านไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป แต่ที่ท่านพูดเมื่อวานนี้ คือ การยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด

เป็นที่แน่นอนว่า ท่านไม่ได้ลงมาเล่นการเมืองผ่านการตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ท่านเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองในความหมายอย่างกว้างด้วยการเป็นผู้บังคับบัญชาทหารบก สวมเครื่องแบบทหาร แล้วพูดแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง

ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่า “ตรงกันข้ามกับทหาร” รัฐประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีกองทัพ กองทัพเป็นส่วนสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราสามารถอยู่อาศัยร่วมกัน พึ่งพากันได้ เพียงแต่ว่าท่านผู้บัญชาการทหารบกยังมีลักษณะ Hybrid แบบนี้ บอกว่าตนเองไม่ยุ่งการเมือง แต่ตบเท้าแสดงความเห็นทางการเมืองได้บ่อยๆ ในอนาคตก็จะสร้างปัญหาต่อไป

8) “ศัพท์ใหม่แต่วิธีคิดแบบเก่า”

เมื่อวานนี้ ถ้าเราลองดูกันดีๆ ท่านผู้บัญชาการทหารบกมีคำศัพท์ใหม่ๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น ‘Data analytic’, ‘Hybrid Warfare’ และอีกมากมาย ในท้ายที่สุด สิ่งที่ท่านผู้บัญชาการทหารบกพูดมา คือ การพยายามนำคำศัพท์ใหม่ๆ เข้ามาใช้ แต่วิธีคิดเนื้อในกระบวนทัศน์ของท่านยังอยู่ในยุคสงครามเย็น กล่าวคือ ยังมองว่าความคิดที่แตกต่างออกไปนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ความมั่นคงในความคิดของเขาคือ การเข้าไปจัดการความคิดที่แตกต่างเหล่านี้
.
แนวทางความมั่นคงในยุคสมัยสงครามเย็นหรือยุคที่แนวคิดคอมมิวนิสม์ยังเบ่งบานอยู่นั้น ดำเนินการโดยการสร้างความหวาดกลัว แบ่งแยกฝักฝ่ายเพื่อปกครอง สร้างทีมข่าวเพื่อปั่นกระแส ในขณะที่ความมั่นคงยุคใหม่ นานาอารยประเทศล้วนพูดถึงการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ๆ อย่างสิ่งแวดล้อม และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการทำนโยบาย
.
พี่น้องประชาชนคนไทยก็คงจะมีวิจารณญาณที่จะตัดสินได้ว่า ทหารไทยยึดความมั่นคงแบบใดเป็นแนวทางกันแน่ หากไม่เข้าใจเศรษฐกิจการเมืองโลกยุคใหม่ ก็ทำได้เพียงจ่ายเงินซื้ออาวุธประเทศมหาอำนาจทุกประเทศเพื่อให้พวกเขาพอใจ แต่กลับมาลดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน”

ที่มา: พรรคอนาคตใหม่ – Future Forward Party

ขอบคุณภาพจาก : Facebook Live Voice TV

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button