ธนาธร ไม่แปลกใจเศรษฐกิจซบเซา รัฐใช้จ่ายเพื่อการลงทุนไปเพียง 58%
ธนาธร ไม่แปลกใจเศรษฐกิจซบเซา รัฐใช้จ่ายเพื่อการลงทุนไปเพียง 58%
วันที่ 2 ตุลาคม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วิเคราะห์รายจ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาว่า
ไม่ต้องแปลกใจที่เศรษฐกิจซบเซา ส่วนหนึ่งของปัญหาคือรายจ่ายเพื่อการลงทุนในปีงบประมาณนี้ ถูกใช้ไปเพียง 58% ของงบที่ตั้งไว้
ในขณะที่รัฐบาลกำลังอวดอ้างถึงความสำเร็จของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบแจกเงินผ่าน “ชิมช้อปใช้” วิธีที่ดีกว่า, ง่ายกว่า และยั่งยืนกว่าคือการผลักดันการใช้งบลงทุนตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ให้เกิดขึ้นจริง
ใครที่เคยเป็นผู้บริหารองค์กรย่อมรู้ว่า “ประสิทธิภาพการทำนโยบายให้เป็นจริง” นั้นสำคัญเท่าๆ กับตัว “นโยบาย”
หลายครั้งยุทธศาสตร์หรือนโยบายถูกออกแบบมาอย่างดี แต่การนำไปปฏิบัติขาดการติดตาม แก้ปัญหา และผลักดันให้แผนที่วางไว้เกิดขึ้นจริง ยุทธศาสตร์หรือนโยบายที่ดีจึงไม่มีความหมาย หากการลงมือทำไม่มีประสิทธิภาพ
ผู้นำ นอกจากจะต้องมีวิสัยทัศน์ สร้างยุทธศาสตร์หรือนโยบายในการนำองค์กรได้แล้ว ยังต้องรู้วิธีการบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเวลา, เงินทุน, บุคคลากร, หรือการถ่ายอำนาจ เพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ หากผู้นำทำไม่สำเร็จ ย่อมเกิดความเสียหายกับองค์กร เช่น หากสินค้าใหม่ออกไม่ได้ตามแผน ลูกค้าก็จะหันไปซื้อสินค้าจากคู่แข่ง, หากการลงทุนเครื่องจักรใหม่ไม่ทันกำหนดการ งบประมาณอาจจะบานปลายและต้นทุนโครงการและต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้โครงการไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เป็นต้น
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลนี้ งบลงทุนถือว่าเป็นส่วนสำคัญของงบประมาณประจำปีของภาครัฐ ซึ่งปีหนึ่งจะมีประมาณ 18-20% ของงบประมาณทั้งหมด งบลงทุนนี้คืองบที่จะมาพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน, สาธารณสุข, โรงเรียน หรือโรงพยาบาล, ถนนหนทางการคมนาคม ตลอดจนพื้นฐานด้านไอทีต่างๆ งบลงทุนของรัฐเกิดจากการวางยุทธศาสตร์และแปรจากยุทธศาสตร์เป็นแผนปฏิบัติงาน หากงบลงทุนไม่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่าประชาชนเสียโอกาสในการพัฒนา ปัญหาประชาชนถูกแก้ไขช้าลง และเศรษฐกิจเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ปีบัญชีของภาครัฐเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมของทุกปี และสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป ในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจบลงวันที่ 30 กันยายน มีการตั้งรายจ่ายเพื่อการลงทุนไว้เกือบ 6.5 แสนล้านบาท ปีงบประมาณปิดไปแล้วในวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา มีการเบิกใช้จริงเพียง 58% เท่านั้น (ดูรูปภาพแผนผัง) โดยเฉลี่ย ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศ นับแต่ปีงบประมาณ 2558 ถึง 2562 หรือ 5 ปีงบประมาณ ค่าเฉลี่ยของการใช้งบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 60% น้อยกว่าการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในอดีตอย่างเห็นได้ชัด
คิดอย่างง่ายๆ ว่าถ้ารัฐบาลบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ เบิกจ่ายงบลงทุนได้เพิ่มขึ้นเพียง 10% (เท่ากับค่าเฉลี่ย 10 ปีก่อนหน้ารัฐบาลประยุทธ์จะเข้าบริหารประเทศ) แปลว่างบลงทุนจะถูกเบิกจ่ายจะเพิ่มจาก 376,500 ล้านบาทในปัจจุบัน (58% ของงบลงทุน 649,138 ล้านบาท) เป็น 441,414 ล้านบาท (68% ของงบลงทุน 649,138 ล้านบาท) หรือก็คือมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่ม 64,914 ล้านบาท เท่ากับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการชิมช้อปใช้ ที่มีวงเงิน 19,000 ล้านบาท 3 โครงการกว่า ยังไม่รวมผลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมาจากการลงทุน เพราะเงินลงทุนของรัฐทำให้เกิดการจ้างงานและซื้อวัตถุดิบมากกว่าเงินที่แจกเพื่อการบริโภคเฉยๆ
การบริหารสมัยใหม่ มีเครื่องมือให้เลือกใช้มากมาย เพื่อที่จะทำให้การนำยุทธศาสตร์องค์กรไปบริหารให้มีประสิทธิภาพ ทำได้จริง ในสมัยที่ผมบริหารองค์กรเอกชน ผมได้ใช้เครื่องมือต่างๆเช่น การติดตามปัญหาโดย 8D, Design of Experiment, QCC และแผนภูมิก้างปลา, 5S, 5 WHY, Six Sigma, แผนภูมิ Pareto และ กฏ 80/20, Total Quality Management, Total Preventive Maintenance, Balanced Score Card, และ Kaizen เป็นต้น เครื่องมือและวิธีการต่างๆ เหล่านี้ บ้างมาจากตะวันตก และบ้างมาจากตะวันออก บางเครื่องมือ ใช้แล้วประสบความสำเร็จ ผมจึงประยุกต์ใช้ทุกโรงงานในเครือ บางตัวใช้ได้ผลเฉพาะบางโรงงานหรือบางกระบวนการ ก็เลือกใช้เฉพาะโรงเฉพาะตัวไป บางตัวไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรก็เลิกใช้
หนึ่งในเครื่องมือในการติดตามปัญหาและโครงการที่ผมใช้และประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ การใช้แนวคิด Genba ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดจากการบริหารงานแบบโตโยต้า “เก็นบะ” คือการตรวจสอบหน้างานจริง พูดคุยกับคนที่เกิดปัญหาจริง ดูสภาพแวดล้อมหน้างานจริง การลงดูหน้างานและสัมผัสกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจริงเท่านั้นที่จะทำให้ผู้บริหารตัดสินใจแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ผู้บริหารที่ดูหน้างานบ่อยจะใช้อำนาจในการจัดการ/เคลื่อนย้าย/หรือเพิ่มลด ทรัพยากร และให้คุณให้โทษกับผู้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง
ผมใช้เครื่องมือ “เก็นบะ” อย่างสม่ำเสมอมา 10 ปี ผมลงไปฟังผู้ปฏิบัติงานจริงและดูพื้นที่จริง เกือบ 200 เรื่องต่อไตรมาส องค์กรมประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ปฏิบัติการเองก็ภูมิใจที่ความคิดและผลงานของเขามีความหมายทำให้เขากล้าที่จะแสดงออกและคิดค้นกระบวนการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โครงการไหนติดขัด ในฐานะผู้บริหาร เราสามารถโยกย้ายทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ (เช่น ให้อำนาจมากขึ้น, เพิ่มคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทาง, เพิ่มงบประมาณ, ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)
การนั่งประชุมในกรุงเทพแก้ปัญหาต่างจังหวัดไม่ได้ หากผมได้เป็นฝ่ายบริหารในการทำงานการเมือง ผมตั้งใจนำทักษะและแนวคิดนี้เข้ามาบริหารประเทศด้วยเช่นกัน (รูปภาพด้านล่างเป็นบางส่วนของกิจกรรมผมทำเมื่อบริหารองค์กรธุรกิจ) ผมมั่นใจว่า “เก็นบะ” จะสามารถแก้ปัญหาการเบิกงบประมาณการลงทุนล่าช้าที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศได้
บทความนี้เป็นส่วนแรกของบทความสามตอน พรุ่งนี้ ผมจะยกตัวอย่างรูปธรรมของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาด้วยการลงทุนที่ตอบสนองกับความต้องการของประชาชนจากลงไปฟังข้อมูลจากคนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและรู้วิธีแก้จริงครับ
ที่มา: Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ