ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ
ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ
ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับวินิจฉัย ถวายสัตย์ – คืบหน้ากรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาววินิจฉัยว่า การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิและุเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่
วานนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีผลการพิจารณาออกมาแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47 (1)
ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า
แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกระทำที่ถูกกล่าวอ้างว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (11) และมาตรา 46 ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) บัญญัติว่า
“การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ อันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) การกระทำของรัฐบาล และมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า “… ถ้าศาลเห็นว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา” เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1)
โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น.นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
ส่วนกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นั้น เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 หรือไม่
ผลการพิจารณาปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า เป็นเพียงกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องไม่กระทำการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และมาตรา 162 ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกร้องได้ดำเนินการหรือยุติไปแล้วก่อนที่ผู้ร้อง จะได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด
ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 มาตรา 7 (3) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
https://www.facebook.com/spokesmanocs/posts/782184195535468?__xts__%5B0%5D=68.ARCHoPUMU3m_C_ow1rGe8-lMYdu-Idx7ppzvsodtBRAdOsRR9srWmowVr4jTlsUvRAwtwNeejpxRtQwBcNckwgZAQ474bFiJqAQ4RLr5MIRkqyn7cRw6NvAKR8S2wGjWzI7vAPb6Msz1xn9e7EdzRh0p6lUmQn1G0hBegUqvAcWO60bMy2UVdjPwDNavAV4jb8GXDjpTqVeeXbfeCIy8vfxNPnV1E1L6c8sF08lAYXLgClPwpg8G_jjw_EW6GKLr3ac0vjulOrczwE0GxiWeUwuB2F6TotR99lgsupuIvqfbnKL2d6MNyWB5fEOWm-M2mVTkt-SH7JOBBysZzLUugCE&__tn__=-R
ปิยุบตร ถามการกระทำทางรัฐบาล หรือ การกระทำทางการเมือง จะถูกตรวจสอบได้ด้วยวิธีใด
หลังจากมีผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นว่า
“ตามหลักกฎหมายมหาชน การกระทำทางรัฐบาล หรือ การกระทำทางการเมือง คือ การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล
การกระทำเหล่านี้อาจหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบทางกฎหมายโดยองค์กรตุลาการ ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้องค์กรตุลาการหรือศาลได้เข้ามาตัดสินชี้ขาดประเด็นทางการเมืองหรือทางนโยบาย จนเกิดสภาพ “การปกครองโดยผู้พิพากษา” เว้นแต่ รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจการตรวจสอบการกระทำทางการเมืองเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ
แล้วการกระทำทางรัฐบาลหรือการกระทำทางการเมืองจะถูกตรวจสอบโดยกลไกใด?
เพื่อให้เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุล จึงต้องมีการตรวจสอบทางการเมืองแทนการตรวจสอบทางกฎหมาย นั่นก็คือ สภาผู้แทนราษฎรต้องมีอำนาจในการตรวจสอบทางการเมืองต่อการกระทำทางรัฐบาลและการกระทำทางการเมืองทั้งหลาย
กรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ด้วยถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 โดยให้เหตุผลว่า การถวายสัตย์ฯเป็น “การกระทำทางการเมือง” หรือ “การกระทำทางรัฐบาล” จึงไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบองค์กรใด
เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ยิ่งทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลในทางการเมือง โดยผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ตลอดจนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง
การอภิปรายในญัตติตามมาตรา 152 ในวันที่ 18 กันยายนนี้ จึงเป็นหนทางที่ยังพอเหลืออยู่ในการตรวจสอบทางการเมืองและหาทางออกร่วมกันต่อกรณีนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ
การอภิปรายในญัตติมาตรา 152 ไม่เพียงแต่เป็นช่องทางในการช่วยกันขจัดปัญหาข้อสงสัยว่าคณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่โดยสมบูรณ์หรือไม่ แต่ยังเป็นไปเพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอีกด้วย
นี่คือภารกิจของ “ผู้แทน” ของประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด”