สุขภาพและการแพทย์

เตือน”โรคเนื้อเน่า แบคทีเรียกินเนื้อคน” ระบาด แค่โรงพยาบาลเดียว 25 ราย ICU 1 ราย

เตือน”โรคเนื้อเน่า แบคทีเรียกินเนื้อคน” ระบาด แค่โรงพยาบาลน่านแห่งเดียว รักษาตัว 25 ราย ICU 1 ราย

ภาพจาก : ถิ่นน่าน ออนไลน์

ข่าวจังหวัดน่าน – ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน รายงานเหตุสยอง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 มีผู้ป่วยโรคเนื้อเน่า และหนังเน่า (Necrotizing fasciitis) หรือแบคทีเรียกินเนื้อคน เข้ามารักษาที่รพ.น่านจำนวน 25 ราย มีอาการรุนแรงเข้ารับการรักษาในไอซียู 1 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน มีผู้ป่วยเพียง 2 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการระบาดของโรคเนื้อเน่า

Advertisements

ผู้ใดเสี่ยงติดเชื้อโรคเนื้อเน่า

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีประวัติไปดำนา ลุยโคลน และโดนหอย หรือเศษแก้วบาด เศษไม้ตำเท้า และไม่ได้ทำแผล หรือรักษาใดๆ เนื่องจากต้องทำนาให้เสร็จ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในบาดแผล และเพิ่มจำนวนจนเกิดอาการรุนแรงได้

ที่มาของโรคเนื้อเน่า

โรคเนื้อเน่าส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคทั้งชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจน เช่น คลอสติเดียม และเชื้อชนิดใช้ออกซิเจนเช่น สแตปฟิโลคอคคัส สเตรปโตคอคคัส ชนิดที่สามารถสร้างสารพิษได้ โดยอาการจะมีผิวหนังบวมแดงร้อน ถ้าเชื้อลงลึกกินทั้งชั้นผิวหนังจะพบตุ่มพุพอง และค่อยๆเปลี่ยนสีเป็นสีม่วง และถ้าเนื้อตายจะกลายเป็นสีดำ บางรายอาจจะต้องตัดขา หรืออาจจะมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ไข้สูง และทำให้เสียชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อ

Advertisements

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายคือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำได้แก่ ประวัติดื่มสุราประจำ เป็นโรคตับแข็ง โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการรับประทานยาสเตียรอยด์ ส่วนใหญ่โรคนี้จะระบาดในฤดูฝนในช่วงที่เกษตรกรลงดำนา ลุยโคลน

จึงขอเตือนให้ผู้ที่ทำนา ถ้ามีแผลตามร่างกาย ขอให้รีบขึ้นจากโคลน รีบล้างแผลโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่าน ซับด้วยผ้าสะอาด และปิดแผล ถ้ามียาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีนสามารถใช้ทาแผลได้ แล้วรีบมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้ตรวจรักษาต่อไป

วิธีการรักษาผู้ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ

สำหรับการรักษาแพทย์จำเป็นต้องตัดเนื้อตายออกให้หมด และให้ยาปฎิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งถ้าเชื้อยังไม่ลุกลามเข้ากระแสเลือด ผลลัพธ์ของการรักษาจะค่อนข้างดี สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้ลงนา หรือไม่มีบาดแผลก็อาจจะติดเชื้อดังกล่าวได้ โดยการเกา หรือมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย เชื้อสเตรปโตคอคคัส หรือสแตปฟิโลคอคคัสที่อยู่บริเวณผิวหนังอาจจะเข้าไปในแผลแล้วเกิดการติดเชื้อ ถ้าผู้ใดมีผิวหนังบวมแดงอย่างรวดเร็ว แล้วมีตุ่มพุพองที่ผิวหนัง แนะนำให้รีบมาตรวจรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ภาพจาก : ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button