ราชกิจจาฯ ประกาศ หนีหมายจับเกิน 180 วัน ให้ถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนบ้าน
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ หนีหมายจับเกิน 180 วัน ให้ถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนบ้านเดิมไปทะเบียนบ้านกลาง
คัดชื่อออกจากทะเบียนบ้าน – เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ระบุว่า พ.ร.บ.นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 38 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทําได้ โดยอาศัยอำนาจตามบท บัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผล และความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้การทะเบียนราษฎรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความเป็นธรรม การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อย และการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน การตรา พ.ร.บ.นี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ
โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ มาตรา4 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องการให้บริการแก่ประชาชน หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงในราชอาณาจักร รมว.มหาดไทยจะอนุมัติให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียนอื่นนอกจากทะเบียนตามวรรคสอง เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติของ รมว.มหาดไทย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ รมว.มหาดไทยประกาศกำหนด”
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน คือ มาตรา 16 ให้ ผอ.ทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่ผู้มีสัญชาติไทย หรือคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร และบุคคลที่ได้จดทะเบียนคนเกิด ณ สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง คนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเลขประจำตัวให้เป็นไปตามระเบียบที่ ผอ.ทะเบียนกลางกำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องแยกระหว่างผู้มีสัญชาติไทย และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยด้วย
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 19/2 และมาตรา 19/3 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 โดยให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 19/2 เมื่อได้รับแจ้งการเกิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 19/1 แล้ว ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งดำเนินการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง แล้วดำเนินการต่อไปตามมาตรา 20 ทั้งนี้ ให้ผู้พบเด็ก ผู้รับเด็กไว้ และผู้แจ้งการเกิด ให้ความร่วมมือกับนายทะเบียนผู้รับแจ้งในการดำเนินการพิสูจน์ตามที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งร้องขอ ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้นายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทําทะเบียนประวัติ และออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน เว้นแต่เด็กนั้นมีอายุครบ 5 ปีแล้ว ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นออกบัตรประจำตัว ให้แทนตามระเบียบ และภายในระยะเวลาที่ ผอ.ทะเบียนกลางกำหนด
ผู้ซึ่งได้รับการจัดทําทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีหลักฐานแสดงว่าได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีคุณสมบัติอื่นตามที่ รมว.มหาดไทยกำหนด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยได้ และเมื่อ รมว.มหาดไทยพิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องมีสถานะถูกต้องตามเงื่อนไขและมีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว ให้ รมว.มหาดไทยประกาศให้ผู้นั้นมีสัญชาติไทย ทั้งนี้ ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องและให้ถือว่าผู้นั้นมีสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีมีประกาศระยะเวลา 10 ปีตามวรรคสองให้นับแต่วันที่จัดทําทะเบียนประวัติหรือออกเอกสารแสดงตน เว้นแต่จะมีหลักฐานอันชัดแจ้งแสดงว่าได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรมาก่อนหน้านั้นตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกําหนด ก็ให้นับแต่วันที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตามที่ปรากฏจากหลักฐาน ผู้ซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามวรรคสอง ถ้าภายหลังปรากฏหลักฐานว่ามีกรณีไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข หรือขาดคุณสมบัติให้ รมว.มหาดไทย ประกาศเพิกถอนการให้สัญชาตินั้นโดยพลัน โดยให้นําความในมาตรานี้มาใช้บังคับกับบุคคลที่เคยอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนตามมาตรา 19/1 แต่หน่วยงานดังกล่าวได้อนุญาตให้บุคคลอื่นรับไปอุปการะ และบุคคลที่มิได้แจ้งการเกิดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 19/1 ซึ่งได้ยื่นคําร้องตามมาตรา 19/3 หรือขอเพิ่มชื่อตามมาตรา 37 แต่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ด้วยโดยอนุโลม
รวมถึงมาตรา 13 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ของมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ในกรณีที่ศาลออกหมายจับผู้ใดตามคําร้องขอของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ หรือในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ ได้รับแจ้งจากศาลให้จับกุมผู้ใดตามหมายจับที่ศาลออกเอง ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาภายใน 180 วันนับแต่วันที่ศาลออกหมายจับ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจแจ้งให้ ผอ.ทะเบียนกลางทราบ และให้ ผอ.ทะเบียนกลางดําเนินการให้นายทะเบียน ผู้รับแจ้งย้ายผู้นั้นออกจากทะเบียนบ้าน และเพิ่มชื่อและรายการของผู้นั้นไว้ในทะเบียนบ้านกลาง และให้หมายเหตุไว้ในรายการของบุคคลนั้นว่าอยู่ในระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับด้วย การหมายเหตุดังกล่าวมิให้ถือว่าเป็นการจัดเก็บข้อมูลตามมาตรา 13 (2) ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางตามวรรคสอง ถ้าผู้นั้นประสงค์จะย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง ผู้นั้นต้องมาแสดงตนต่อนายทะเบียนที่จัดทําทะเบียนบ้านกลางนั้น พร้อมทั้งหลักฐานอันแสดงว่าหมายจับนั้นได้ถูกเพิกถอน หรือได้มีการปฏิบัติตามหมายจับนั้นเสร็จสิ้นแล้ว
ขณะที่การแจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้ผู้ถูกออกหมายจับ หรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ตามวรรคสอง ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น หรือปิดหมายไว้ ณ ภูมิลําเนา หรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนที่ปรากฏครั้งสุดท้าย ก่อนย้ายมาในทะเบียนบ้านกลาง ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น ส่ง หรือปิดโดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้นั้นได้รับทราบแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในท้าย พ.ร.บ.ระบุหมายเหตุว่า เหตุผลประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ คือเห็นสมควรปรับปรุงวิธีปฏิบัติทะเบียนราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อํานวยความเป็นธรรม และอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชนยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับการจัดการประชากร ของประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกในประชาคมอาเซียน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกําหนดสิทธิการยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยของเด็ก และบุคคลตามมาตรา 19 มาตรา 19/1 มาตรา 19/3 และมาตรา 37 จะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็กที่ไร้รากเหง้า ที่ไร้รัฐ และไร้สัญชาติในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และหลักสิทธิมนุษยชน
ที่มา : thairath.co.th