ข่าวไม่มีหมวดหมู่

ประวัติวันมาฆบูชา 15 ค่ำ เดือน 3 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ประวัติวันมาฆาบูชา 15 ค่ำ เดือน 3

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่พระสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็นพระอรหันต์ซึ่งอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า

คำว่า “มาฆะ” นั้น หมายถึงเดือน 3 เป็นช่วงเดือนหลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน พระอรหันตสาวกได้เดินทางมามาเข้าเฝ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ประกอบด้วย คณะศิษย์ของชฎิล 3 พี่น้อง 1,000 รูป และคณะของพระอัครสาวก 250 รูป รวมจำนวนได้ 1,250 รูป โดยในจำนวนนี้มิได้นับรวมชฎิล 3 พี่น้องและอัครสาวกทั้ง 2 ซึ่งการเดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันมาฆฤกษ์นี้นับเป็นการเข้าประชุมของพระอรหันต์ผู้เป็นมหาสังฆนิบาติ และประกอบด้วย องค์ประกอบอัศจรรย์ทั้ง 4 ประการที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต อันประกอบไปด้วย

  1. พระสงฆ์สาวกมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายเป็นจำนวน 1,250 รูป ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
  2. พระสงฆ์ที่เดินทางมาประชุมทั้งหมดต่างล้วนแต่เป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือการเป็นพระสงฆ์โดยได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
  3. พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6
  4. วันที่พระสงฆ์มาประชุมตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ โดยอาจเรียกวันนี้เป็นอีกคำหนึ่งได้ว่า วันจาตุรงคสันนิบาต หรือวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

 

ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา ปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา เป็นวันกตัญญูแห่งชาติ

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติในวันมาฆบูชาคือ “โอวาทปาติโมกข์” ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น ตัวอย่างเช่น หลักการ 3 คือ

1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)

2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)

3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

ที่มา : kapook.com sanook.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button