ข่าวภูมิภาค

อบต.เชิญชาวบ้านประชุม สร้างเขื่อน “หาดสุรินทร์” 14 ก.พ. นี้ หลายเสียงแย้ง ไม่ช่วยป้องกันการกัดเซาะ

วันที่ 13 ก.พ. ผู้สื่อข่าวได้รับรายงาน องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ออกหนังสือเชิญชาวบ้านร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นกรณี กรมโยธาธิการและผังเมืองมีแผนงานดำเนินการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล บริเวณหาดสุรินทร์ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ตามสัญญาลงวันที่ 31 มี.ค. 2559 และสัญญาเพิ่มเติม ลงวันที่ 15 ส.ค. 2560 และมีการประชุมกรรมการครั้งที่ 1/2562 เมื่อวงันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมาแล้วนั้น โดยเบื้องต้น นายกอบต.มีความกังวลใจและห่วงใยรูปแบบรายการเขื่อน ป้องกันตลิ่งข้างต้น จึงจัดการประชุมฟังความคิดเห็นชาวบ้าน ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ. 2562)

สำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็นได้ เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ชั้น 3

 

อย่างไรก็ดี นโยบายการสร้างเขื่อนที่หาดสุรินทร์ ก่อให้เกิดเสียงแสดงความกังวลและไม่เห็นด้วยจากชาวบ้านหลายคนในพื้นที่ โดยอ้างอิงจากข้อมูลสถิติและนักวิชาการว่า การสร้างเขื่อนป้องกันริมชายหาดไม่สามารถช่วยป้องกันการกัดเซาะได้ ดังเช่นความคิดเห็นของ อ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งได้ให้ข้อมูลความรู้เรื่องการสร้างเขื่อนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งระบุว่า

“การกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหามหาโหดของเมืองไทย เรื่องแรกที่เราควรรู้คือชายฝั่งบางแห่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตามธรรมชาติ หากเราไปตั้งถิ่นฐานหรือสร้างถนนบนเขตที่ยังไงซะก็โดนกัดเซาะ มันก็ต้องหายไปเป็นธรรมดา การสู้กับทะเลอาจชนะแป๊บนึง แต่คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องจะพลอยซวยไปด้วย การกัดเซาะแบบที่สองเกิดจากมนุษย์นี่แหละครับ สร้างโน่นนี่ลงไปในทะเล บ้างเป็นเขื่อนปากคลองจะได้ไม่ต้องขุดลอกบ่อย บ้างเป็นท่าเรือน้ำลึก บ้างก็เป็นกำแพงที่เอาไว้สู้การกัดเซาะ แต่ดันไปก่อปัญหาให้ที่อื่น

ประเทศไทยสู้การกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีเดิมๆ มานาน ถมเงินภาษีลงทะเลไปนับหมื่นล้านบาท แต่ผลที่เกิดขึ้นเห็นชัดว่ามันไม่ได้ผล

ผมนำตารางเปรียบเทียบข้อมูลมาให้ดูชัดๆ วงสีเหลืองคือชายฝั่งที่โดนกัดเซาะปี 06 วงสีขาวคือปี 13 จะเห็นได้ว่ายิ่งสร้างยิ่งโดนกัดเซาะ และปัจจุบัน ปัญหาไม่ได้ลดลงเลย (ตารางจากศ.ดร.ธนวัฒน์ครับ)

หลายต่อหลายพื้นที่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป เดิมทีก็สร้างโครงสร้างแข็ง แต่ปัจจุบันหลายแห่งเริ่มรื้อถอนออกไป เปลี่ยนไปใช้วิธีใหม่ที่สอดคล้องกับลักษณะชายฝั่งนั้นๆ

ในแนวคิดของผม การก่อสร้างตามชายฝั่งจะใช้การประชาพิจารณ์อย่างเดียวอาจไม่ได้ผล นอกจากนี้ คนที่เข้ามาให้ความคิดเห็น หลายคนก็ไม่ได้อยู่ริมชายฝั่ง เพียงแต่อยู่ในเขตนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังมีการก่อสร้างตามชายฝั่งอีกหลายแห่ง ซึ่งกว่ากระบวนการทุกอย่างจะออกมา โครงสร้างเหล่านั้นก็ทำไปหมดแล้ว

ผมจึงอยากขอให้กรมทะเลช่วยไปตรวจสอบสักนิด โดยเฉพาะหาดสุรินทร์ ภูเก็ต ที่เริ่มเป็นประเด็นขึ้นมา

ผมทราบว่าเจ้าหน้าที่กรมลงไปดูแล้ว แต่ถ้าจะให้ชัดเจน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะเข้ามาช่วย เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายว่า สร้างแล้วไม่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่เป็นมาหลายต่อหลายแห่งครับ”

ดังนั้น การประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ก.พ. นี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับชาวบ้านหาดสุรินทร์เพื่อแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำและวิเคราะห์การดำเนินการสร้างอย่างรอบคอบและรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติอันงดงามของหาดสุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับโลก นำเม็ดเงินหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศและสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่

ภาพหาดสุรินทร์ ถ่ายเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2560 ก่อนมีคำสั่งระงับโครงการไว้ชั่วคราว (ภาพ : ข่าวภูเก็ต)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button