การมาของลูกเต่ามะเฟือง หาดคึกคัก จ.พังงา กลับคืนสู่ทะเล – วิดีโอ
ภาพ/วิดีโอ: Thon thamrongnawasawat / DMCR
พังงา – ฟักแล้วลูกเต่ามะเฟือง รังแรก ที่พังงา รอดเกินกว่า 60 % ปล่อยกลับทะเล 48 ตัว ขณะที่ดร.ก้องเกียรติ ระบุปล่อยทันทีเพราะพฤติกรรมไม่เหมือนชนิดอื่น คาดอีก 10 วัน รังที่ 2 ฟัก
จากกรณีที่ แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่จำนวน 118 ฟอง หลังจากแม่เต่ามะเฟืองไม่ได้ขึ้นมาวางไขบริเวณชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นานกว่าสิบปี กระทั่ง แม่เต่าได้กลับขึ้นมาวางไข่จำนวน 118 ฟอง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่พบเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่าจุดที่เต่าขึ้นมาวางไข่ เป็นจุดไม่ปลอดภัยมีน้ำทะเลท่วมถึง จึงได้ย้ายไข่เต่าไปเพาะฝักที่บริเวณอื่นซึ่งห่างจากจุดเดิม 2 กิโลเมตร โดยนำไปเพาะจำนวน 89 ฟอง
จนกระทั้งล่าสุด ล่าสุด เมื่อเวลา 19.05 น. วันที่ 11 ก.พ. ขณะที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 ปฏิบัติงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองจังหวัดพังงา ของศูนย์เฝ้าระวังฯ หาดคึกคัก ได้ตรวจพบลูกเต่ามะเฟืองได้ฟักตัวและขึ้นมาบริเวณปากหลุมฟักไข่ที่ 1 และทยอยขึ้นมา รวมทั้งหมด 49 ตัว เจ้าหน้าที่จึงได้นำลูกเต่าไปพักฟื้นไว้ในกะละมังที่ฆ่าเชื้อแล้ว ก่อนปล่อยกลับสู่ทะเล จำนวน 48 ตัว เนื่องจากมีลูกเต่า 1 ตัวที่ตายก่อนเพราะร่างกายไม่สมบูรณ์
นายวิโรจน์ เอียดสงครา เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 กล่าวว่า วันนี้ที่ตนเองมาเข้าเวรเฝ้าระวังเต่า ตนเองกำลังเดินตรวจหลุมพบว่า หลุมเริ่มยุบตัว และ ก็มีลูกเต่าเริ่มออกมา 2 ตัว ก่อนจะออกมาเรื่อยๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปที่รัง เพื่อจะทำการนำลูกเต่ามาพักฟื้น ก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล ซึ่งตนเองรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก และรู้สึกหายเหนื่อย หลังจากสลับกันเฝ้าดูแลอย่างต่อเนื่องมากว่า 56 วัน พร้อมขอให้เต่าที่ฟักมาทั้งหมด 48 ตัว ปล่อยคืนสู่ทะเลให้รอดปลอดภัยหมดทุกตัวด้วย
ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศวทม. กล่าวว่า ในวันนี้มีลูกเต่าขึ้นมาจากหลุมจำนวน 49 ตัว และ ไม่สามารถขึ้นมาจากหลุมได้จำนวน 8 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นไข่ที่ไม่มีการผสม โดยพบอัตราการฟักอยู่ที่ 60% โดยเต่าหลุมนี้ขึ้นมาวางไข่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาฟักจำนวน 56 วัน ส่วนค่าอุณหภูมิที่วัดได้เฉลี่ยอยู่ที่ 30 องศา ซึ่งจะทำให้มีเต่าเพศเมียประมาณ 80% ซึ่งสัดส่วนในธรรมชาติเราจะพบเพศเมีย 3 ใน 4 ซึ่งการฟักตัวครั้งนี้ถือเป็นสัดส่วนที่มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ
ส่วนหาเหตุที่ไม่ทำการอนุบาลลูกเต่าก่อนจะทำการปล่อยลงสู่ทะเลนั้น สืบเนื่องจากผลการทดลองอนุบาลและเพาะฟักทั่วโลกยังไม่มีใครทำสำเร็จเนื่องจากพฤติกรรมการกินอาหาร หรือ พฤติกรรมการว่ายน้ำ ประกอบกับเต่ามะเฟือง เป็นสัตว์ที่มีหนังหุ้มเกร็ดจึงทำให้ง่ายต่อการเกิดบางแผลและติดเชื้อจนเสียชีวิต ซึ่งหากเทียบกับการปล่อยลงสู่ธรรมชาติจะทำให้ลูกเต่ามีโอกาสรอดสูงกว่าการเพราะเลี้ยง
ส่วนหลุมฟักที่ 2 ซึ่งแม่เต่าขึ้นมาวางไข่เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าอีกไม่เกิน 10 วัน ลูกเต่าจะเริ่มคลานออกมาจากหลุม ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะทำการปรับพื้นที่เพื่อให้ลูกเต่าที่เกิดสามารถคลานกลับลงสู่ทะเลด้วยตัวเอง