วิธีดู ดาวหางแอตลัส โคตรหายาก โคจรผ่านโลก ทุก 1.6 แสนปี
โอกาสครั้งเดียวในชีวิต วันนี้ ดาวหางแอตลัส C/2024 G3 Atlas โคจรผ่านโลกเพียงครั้งเดียวในทุก 160,000 ปี จะสามารถมองเห็นได้ในช่วงสัปดาห์นี้จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2568
ดาวหางแอตลัส ถูกค้นพบครั้งแรกในเดือนเมษายน 2014 โดยระบบเตือนภัยดาราศาสตร์ ATLAS ที่ตั้งอยู่ในชิลี ขณะนั้นดาวหางอยู่ห่างจากโลกถึง 400 ล้านไมล์ มีความสว่างน้อยกว่าดาวที่จางที่สุดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าถึง 158,000 เท่า
ล่าสุด ดาวหางแอตลัส กำลังเข้าใกล้จุดพีคของการโคจร หรือจุดที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวงโคจร (เพอริฮีเลียน) ซึ่งจะส่งผลให้ดาวหางมีโอกาสสว่างมากขึ้นเนื่องจากน้ำแข็งและก๊าซที่แช่แข็งบนพื้นผิวจะระเหิด กลายเป็นโคม่าและหางที่งดงาม
ดร. ชยาม บาลาจี ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์อนุภาคดาราศาสตร์จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า “การคาดการณ์ความสว่างของดาวหางนั้นค่อนข้างยาก แต่มีโอกาสที่ผู้สังเกตการณ์จะสามารถเห็นได้ในช่วงรอบ ๆ จุดโคจรใกล้สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและพฤติกรรมของดาวหาง”
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการชมดาวหางแอดลัส
จุดพีคสุดของ G3 Atlas ตรงกับวันที่ 13 มกราคม ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการรับชม หากฟ้าโปร่ง ปราศจากแสงรบกวนจากเมืองใหญ่ ผู้สนใจควรเตรียมกล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กเพื่อช่วยในการสังเกต
ทั้งนี้ จะมองเห็นได้ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 18 มกราคม โดยผู้ที่อยู่ในซีกโลกใต้จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนที่สุด เนื่องจากตำแหน่งของดาวหางอยู่ในมุมที่เหมาะสมกับซีกโลกนี้
ด้วยการโคจรที่ห่างไกลและโอกาสในการมองเห็นที่หายาก ดาวหางแอตลัส กลายเป็นปรากฏการณ์ที่นักดาราศาสตร์และผู้ชื่นชอบการดูดาวไม่ควรพลาด หากสภาพอากาศอำนวย ผู้ชมอาจได้เห็นภาพที่สวยงามของหางดาวหางที่ขยายตัวเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
เพื่อเพิ่มโอกาสในการเห็นดาวหาง ควรมองหาพื้นที่มืดห่างจากแสงไฟในเมือง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทจะมีโอกาสเห็นภาพที่ชัดเจนกว่า ทั้งนี้ การชมดาวหางแอตลัส ถือเป็นโอกาสพิเศษที่อาจต้องรออีกหลายพันปีถึงจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
คำแนะนำ ดูดาวหางแอตลัสในประเทศไทย
ส่วนประเทศไทย สมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า การสังเกตดาวหางแอตลัสบนท้องฟ้าประเทศไทยเป็นไปได้ยาก ทั้งก่อนและหลังจากที่ดาวหางผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เนื่องจากดาวหางมีตำแหน่งอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก ต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสที่มาปรากฏเมื่อปี 2567 ช่วงวันที่ 6-10 มกราคม ก่อนที่ดาวหางแอตลัสจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เป็นช่วงที่มีโอกาสสังเกตดาวหางดวงนี้ในละติจูดของประเทศไทย หลังจากนั้นดาวหางจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตได้
ตลอดช่วงดังกล่าว ดาวหางปรากฏอยู่ใกล้ขอบฟ้าที่มุมเงยต่ำกว่า 10° และอยู่ท่ามกลางแสงเงินแสงทองในเวลาเช้ามืดทางทิศตะวันออก ค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู อาจใช้ดาวพุธและดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่องช่วยชี้ตำแหน่งของดาวหาง
ดาวหางขึ้นเหนือขอบฟ้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเพียงประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น จึงมีแสงอรุณรุ่งรบกวน ข้อจำกัดนี้ทำให้ต้องหาสถานที่ซึ่งขอบฟ้าด้านที่ดาวหางปรากฏไม่มีสิ่งใดบดบัง อาจต้องอยู่บนที่สูงหรือใกล้ชายฝั่งทะเลที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แม้ตัวเลขโชติมาตรจะแสดงว่าสว่างพอจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่บรรยากาศโลกที่หนาแน่นในบริเวณใกล้ขอบฟ้าจะลดทอนความสว่างของดาวหางลงมาก รวมไปถึงท้องฟ้าฉากหลังที่ไม่มืด ทำให้สังเกตดาวหางด้วยตาเปล่าได้ยาก แนะนำให้สังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สดร. เผยภาพดาวหาง จื่อจินซาน-แอตลัส เหนือฟ้าเมืองไทย พลาดครั้งนี้รออีกที 8 หมื่นปี
- สดร. ชวนชมดาวหาง “จื่อจินซาน-แอตลัส” สว่างทะลุฟ้า ลุ้นส่องตาเปล่า ต.ค. นี้
- ทำความรู้จัก ดาวหาง 12P/Pons-Brooks มองเห็นด้วยตาเปล่า 21 เม.ย.นี้ก่อน 2 ทุ่ม