ยื่นภาษีปี 67 ปี 2568 เช็กเงินคืนภาษีผ่าน 3 ช่องทาง ได้แล้ววันนี้ Easy E-Receipt ซื้ออะไร ลดหย่อนภาษีได้บ้าง? ไขข้อสงสัย ซื้อเกิน 30,000 ได้ไหม พร้อมวิธีเช็กเงินคืนภาษีผ่าน D-MyTax
เผยความคืบหน้าการยื่นภาษี 2567 ปี 2568 ประชาชนที่ทำเรื่องส่งเอกสาร ยื่นภาษีรายบุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90, ภ.ง.ด. 91) ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือแอปพลิเคชัน RD Smart Tax มีรายงานว่า ผู้เสียภาษีบางส่วนเริ่มได้รับเงินคืนแล้ว ซึ่งเร็วสุดได้รับเงินคืนภาษีประมาณ 9 วัน หลังจากที่ยื่นเรื่องไป เช่น ยื่นภาษีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 ก็จะเริ่มได้เงินคืนภาษีในวันนี้ 13 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยหลังจากที่สถานะขึ้นว่า “ส่งคืนภาษี” จะได้เงินคืนประมาณ 3-4 วันทำการ
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการคืนภาษีขึ้นอยู่กับวิธีการที่กรมสรรพากรคืนเงิน โดยทั่วไปจะได้รับเงินคืนภายใน 3 เดือน (ไม่เกิน 90 วัน) หากเลือกคืนเงินผ่านพร้อมเพย์ จะได้รับเงินเร็วขึ้น
หากไม่ได้เงินคืนต้องทำอย่างไร
หากยื่นภาษีแล้วไม่ได้เงินคืน หรือได้เงินคืนน้อยกว่าที่คาดไว้ อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
- คำนวณภาษีผิดพลาด
- ใช้สิทธิลดหย่อนไม่ถูกต้อง
- กรอกข้อมูลในแบบแสดงรายการไม่ครบถ้วน
หมายเหตุ : ควรตรวจสอบข้อมูล และเอกสารประกอบ ให้ถูกต้อง ก่อนยื่นภาษี หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่สรรพากรได้
เช็กผลเงินคืนภาษี 2567 ปี 68 ช่องทางไหนบ้าง
หลังจากยื่นภาษีแล้ว สามารถเช็กผลการคืนภาษีได้หลายช่องทาง อาทิ
- My Tax Account : เข้าสู่ระบบ My Tax Account บนเว็บไซต์กรมสรรพากร
- สำนักงานสรรพากรพื้นที่: ติดต่อสอบถามโดยตรง
- สายด่วนกรมสรรพากร: โทร. 1161
การเช็กเงินคืนภาษีผ่าน D-MyTax
สำหรับการใช้งานระบบ D-MyTax นั้น ผู้เสียภาษีสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงเข้าสู่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th และเลือกที่หัวข้อ D-MyTax จากนั้นเข้าสู่ระบบโดยใช้ RD ID (Username และ Password ชุดเดียวกับที่ใช้ตอนยื่นแบบ e-filing)
แล้วยืนยันตัวตนผ่านรหัส OTP ที่ได้รับทางโทรศัพท์มือถือ (สามารถเลือกเบอร์โทรศัพท์ที่ต้องการรับ OTP ได้จากในระบบ) หรือหากยังไม่มี RD ID ก็สามารถสมัครสมาชิกได้ภายในหน้าเว็บไซต์ หรือเลือกเข้าสู่ระบบผ่านแอปพลิเคชั่น ThaID ก็ได้เช่นกัน
เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ให้คลิกที่เมนู “ติดตามสถานะขอคืน/นำส่งเอกสาร” และเลือกปีภาษีที่ต้องการตรวจสอบ ระบบจะแสดงสถานะการดำเนินการคืนเงินภาษีอย่างละเอียด และหากต้องการส่งเอกสารเพิ่มเติม ก็สามารถอัปโหลดผ่านระบบได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปที่สำนักงานสรรพากร
ยื่นภาษี 2567 ปี 68 วันไหนถึงเมื่อไหร่
กรมสรรพากร ประกาศว่า ประชาชนสามารถ ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91 2567 ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 8 เมษายน 2568 ยื่นแบบทุกประเภท รวมบริการทางภาษี (One Portal) ตรวจสอบเงินบริจาค
ลดหย่อนภาษี 2567 ปี 68 ได้เงินคืนเท่าไหร่
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “ลดหย่อนภาษี” คือ การได้เงินคืนจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่คำนวณจาก “เงินได้สุทธิ” ของเรา ซึ่งเงินได้สุทธิ ก็มาจาก “เงินได้” หัก “ค่าใช้จ่าย” และ “ค่าลดหย่อน” ตามที่กรมสรรพากรประกาศ นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก มีรายได้ทั้งหมดของเราใน 1 ปี เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าคอมมิชชั่น ฯลฯ กฎหมายให้เราหัก “ค่าใช้จ่าย” ได้ส่วนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ เช่น เงินเดือน หักได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
จึงเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐบาลให้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย หรือส่งเสริมนโยบายบางอย่าง เช่น การออม การลงทุน การดูแลครอบครัว เป็นต้น
ตัวอย่าง การลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท
ทุกคนที่ยื่นภาษี ได้สิทธิ์นี้แน่ ๆ 60,000 บาท รัฐบาลให้สิทธิ์นี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระภาษีขั้นพื้นฐาน ให้กับผู้มีเงินได้ทุกคน เปรียบเสมือน เป็นส่วนลด 6 หมื่นบาทแรก จากเงินได้สุทธิ ก่อนนำไปคำนวณภาษี ทำให้เสียภาษีน้อยลง หรืออาจได้เงินคืนภาษีมากขึ้น เช่น
นาย ข มีเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว 300,000 บาท เมื่อหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิเพื่อคำนวณภาษี 240,000 บาท หรือ นางสาว ค มีเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว 1,000,000 บาท เมื่อหักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท จะเหลือเงินได้สุทธิเพื่อคำนวณภาษี 940,000 บาท
ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท คืออะไร
ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2567 (ยื่นแบบปี 2568) ก็คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย ที่เราจ่ายไปจริงในปีภาษี 2567 สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ถ้าเรากู้เงินธนาคารมาซื้อบ้าน คอนโด หรือปลูกบ้าน แล้วในปี 2567 เราจ่ายดอกเบี้ยไปเท่าไหร่ ก็เอาจำนวนนั้นมาขอลดหย่อนภาษีได้ แต่ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ ประเภทที่อยู่อาศัยจะต้อง เป็นการกู้ยืมเพื่อ ซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย เท่านั้น เช่น บ้านเดี่ยว, ทาวน์เฮ้าส์, คอนโดมิเนียม, อาคารชุด โดยจะกี่หลังก็ได้ แต่ใช้สิทธิลดหย่อนได้รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
ต้องเป็นการกู้ยืมเพื่อ “อยู่อาศัย” ไม่ใช่เพื่อการลงทุน ปล่อยเช่า หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น และต้องมี หนังสือรับรองการเสียดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน (ที่ระบุชัดเจนว่าเป็นดอกเบี้ยเพื่อที่อยู่อาศัย) เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอลดหย่อน
กรณี กู้ร่วม ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละครึ่ง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เช่น กู้ร่วมกัน 2 คน จ่ายดอกเบี้ยรวม 120,000 บาท จะลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
เช่น นางสาวพลอย กู้ซื้อคอนโดมิเนียม และจ่ายดอกเบี้ยในปี 2567 ไปเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท นางสาวพลอย จะสามารถนำดอกเบี้ยไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียง 100,000 บาท
มีรายได้หลายทาง ต้องขอ 50 ทวิ จากทุกที่ใช่ไหม
สำหรับใบ 50 ทวิ ที่ใช้ขอคืนภาษี หากผู้ใดมีแหล่งรายได้หลายทาง จะต้องขอเอกสาร 50 ทวิ จากทุกที่เพื่อมายื่นภาษีใช่ไหม สามารถยื่นภาษีแค่บางส่วนได้หรือไม่?
จริง ๆ แล้ว ถ้ามีแหล่งรายได้หลายทางจริง ๆ พยายามขอเอกสารจากทุกที่เพื่อมายื่นภาษีกับกรมสรรพากรจะดีที่สุด หากข้อมูลที่สรรพากรมี ไม่ตรงกับข้อมูลที่เรายื่นไป
เช่น สรรพากรพบว่าคุณมีแหล่งรายได้ 3 แห่ง แต่คุณยื่นไปแค่ 2 แห่ง อาจทำให้เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบข้อมูลย้ือนหลัง และทำให้เสียเวลาการขอเงินคืนภาษี ส่วนรายได้บางประเภท อย่าง ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ ไม่ต้องยื่นก็ได้
ซื้อสินค้าเกิน 3 หมื่นบาท เข้าร่วมโครงการ Esay e Receipt ลดภาษีได้ไหม
คำตอบคือ ได้ครับ สำหรับกรณีซื้อสินค้าเกิน 30,000 บาท ในโครงการ Easy E-Receipt เราจะสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท นั่นเอง
สำหรับกรณีซื้อมือถือสมาร์ทโฟนราคา 31,900 บาท เราสามารถนำยอดซื้อ 31,900 บาท มาหักลดหย่อนได้ เพราะไม่เกิน 50,000 บาทตามที่โครงการกำหนด
สรุปง่าย ๆ ซื้อสินค้าเกิน 30,000 บาท ก็ยังใช้สิทธิ์ Easy E-Receipt ได้ แต่ลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งจะได้เงินคืนประมาณ 30,000 บาท (ส่วนอีก 20,000 บาท จะต้องไปซื้อของ โอท็อป (Otop) นะครับ)
มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 เป็นมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2568 ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหรือบริการมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ซื้อสินค้าจากร้านค้าและบริการที่กำหนด 30,000 บาท
สามารถใช้ได้กับร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ (e-Tax Invoice) ได้
ซื้อสินค้า OTOP 20,000 บาท
สินค้า OTOP 20,000 บาท: ใช้ได้กับสินค้า OTOP จากร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยร้านค้าจะออกใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ให้แทน
สมมติว่าคุณซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าทั่วไป 50,000 บาท และซื้อสินค้า OTOP 20,000 บาท คุณสามารถใช้สิทธิ Easy E-Receipt ได้ดังนี้
- 30,000 บาทแรก นำไปลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการทั่วไป
- 20,000 บาทถัดมา นำไปลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้า OTOP
สามารถเช็กรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วม Easy E-Receipt E-tax 2568 ได้ที่นี่
ตรวจสอบรายการลดหย่อนภาษี 2567 ปี 68
สำหรับรายการ ลดหย่อนภาษี 2567 สำหรับใช้ยื่นภาษีในปี 2568 แบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 หมวดหมู่ 30 รายการ ดังต่อไปนี้
ส่วนตัว/ครอบครัว
- ส่วนตัว : 60,000 บาท
- คู่สมรส (ไม่มีรายได้) : 60,000 บาท
- บุตร คนละ: 30,000 บาท
- บุตร คนที่ 2 + เกิดตั้งแต่ปี 2561 คนละ: 60,000 บาท
- ค่าคลอดบุตร/ฝากครรภ์: 60,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ คนละ: 30,000 บาท
- ค่าเลี้ยงดูผู้พิการ/ทุพพลภาพ คนละ: 60,000 บาท
- ประกันชีวิตและการลงทุน
ประกันชีวิตทั่วไป/สะสมทรัพย์: ไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพตัวเอง: 25,000 บาท
- (รวมประกันชีวิตทั่วไป/สะสมทรัพย์ และ ประกันสุขภาพตัวเอง ต้องไม่เกิน 100,000 บาท)
- ประกันสุขภาพพ่อแม่: ไม่เกิน 15,000 บาท
- ประกันสังคม: ไม่เกิน 9,000 บาท
- ประกันชีวิตคู่สมรส (ไม่มีรายได้): ไม่เกิน 10,000 บาท
- เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise): ไม่เกิน 100,000 บาท
- กองทุน ThaiESG: 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 300,000 บาท
- กองทุน SSF: 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุน RMF: 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- ประกันบำนาญ: 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.): ไม่เกิน 30,000 บาท
- กองทุน PVD: 15% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนสงเคราะห์ครู: ไม่เกิน 500,000 บาท
- กบข.: ไม่เกิน 500,000 บาท
- ประกันบำนาญ, กองทุน กอช., กองทุน PVD, กองทุนสงเคราะห์ครู, กบข. รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
กระตุ้นเศรษฐกิจ
- ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย : ไม่เกิน 100,000 บาท
- EASY E-Receipt ปี 2567 : ไม่เกิน 50,000 บาท
- เที่ยวเมืองรอง ปี 2567 : ไม่เกิน 15,000 บาท
- สร้างบ้านใหม่ ปี 2567-2568 : ไม่เกิน 100,000 บาท (10,000 บาท ต่อค่าก่อสร้างทุก 1 ล้านบาท)
ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
- ค่าซ่อมบ้าน : ไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าซ่อมรถ : ไม่เกิน 30,000 บาท
- ค่าซ่อมบ้าน และ ค่าซ่อมรถ ที่จ่ายไประหว่าง 16 ส.ค. – 31 ธ.ค. 2567 เฉพาะเขตพื้นที่ที่กำหนด
เงินบริจาค
- กลุ่มการศึกษา/กีฬา/มูลนิธิด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข (ตาม พ.ร.ฎ.771 พ.ศ.2566) : 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน (สำหรับการบริจาคผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น)
- บริจาคสถานพยาบาลของรัฐ : 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- บริจาคทั่วไป : ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- พรรคการเมือง : ไม่เกิน 10,000 บาท
หมายเหตุ : ข้อมูล ณ วันที่ 3 มกราคม 2568 ที่มา กรมสรรพากร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายชื่อร้านค้า เข้าร่วม Easy E-Receipt E-tax 2568 ช้อปร้านไหน ลดหย่อนภาษีได้
- Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี 2568 ซื้อมือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตได้ไหม
- เช็กเลย ยื่นภาษีเงินได้ 2567 ได้ถึงวันไหน พร้อมวิธีลดหย่อน-คืนภาษี ไม่ยื่นผิดไหม