7 สัญญาณเตือนมะเร็ง มักมองข้าม หนุ่ม 21 ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บอกเอง
7 สัญญาณเตือนมะเร็ง มักมองข้าม หนุ่ม 21 ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บอกเอง ก่อนตรวจเจอป่วยระยะที่ 4
เจย์ ชิว หนุ่มชาวซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย อายุเพียง 21 ปี แต่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะรุนแรงที่สุดของโรค ได้แชร์ประสบการณ์ผ่านวิดีโอในติ๊กต็อก เล่าถึงสัญญาณเตือนต่างๆ ที่เขาเคยมองข้ามก่อน กระทั่งตรวจเจอโรคเมื่อเดือนสิงหาคม 2566
ตามข้อมูลจาก Cancer Research UK ระบุว่า มะเร็งชนิดนี้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดที่พัฒนาในระบบน้ำเหลือง ส่งผลต่อเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่าลิมโฟไซต์ เมื่อเป็นโรคนี้ เซลล์เม็ดเลือดขาวบีลิมโฟไซต์จะผิดปกติและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้มีลิมโฟไซต์มากกว่าปกติ แต่ไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดีเท่าที่ควร เซลล์เหล่านี้จะจับกลุ่มกันในต่อมน้ำเหลืองหรือส่วนอื่นๆ ของระบบน้ำเหลือง กลายเป็นก้อนเนื้องอกและก่อให้เกิดปัญหาในระบบน้ำเหลืองและบริเวณที่มันเติบโต
เจย์เล่าว่า สัญญาณเตือนแรกเริ่มปรากฏหลังการตรวจเลือดประจำปีเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา “ตอนนั้นผมยังไม่มีอาการอะไร ใช้ชีวิตปกติ… แต่ผลตรวจออกมาสองสามวันหลังจากนั้น หมอโทรมาบอกว่าระดับแคลเซียมสูง ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ความจริงแล้ว เมื่อระดับแคลเซียมสูง นั่นหมายความว่ากระดูกกำลังต่อสู้กับโรคบางอย่าง ซึ่งผมไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน”
2 เดือนต่อมา เพื่อนและครอบครัวเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างหน้าตาเขาอย่างชัดเจน แต่ตัวเขาเองกลับมองไม่เห็น “ผมเริ่มผอมลงมากและตัวซีดขาวเหมือนผี แต่เวลามองกระจก ผมกลับคิดว่า ‘ผมยังปกติดีนี่ ไม่ได้ผอมหรือซีดเลย’ ผมมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงนั้น ช่วงนั้นผมมีอาการของมะเร็งหลายอย่าง แต่ไม่รู้ว่ามันคืออาการของมะเร็ง”
เจย์ยังเล่าถึงอาการปวดหลังส่วนล่างอย่างรุนแรงจนรู้สึกเหมือนกระดูกกำลังจะหัก จนนอนไม่หลับ แต่เขาคิดว่าเป็นแค่ปัญหาหมอนรองกระดูก นอกจากนี้ยังมีอาการเหงื่อออกมากตอนกลางคืน และเหนื่อยล้าอย่างมากทุกวัน
“วันหนึ่งผมตื่นขึ้นมาและคิดว่าฉี่รดที่นอน นั่นขนาดเหงื่อออกมาก พอมองเสื้อก็คิดว่า ‘นี่มันเหงื่อเหรอ?’ อีกอาการหนึ่งคือ ผมเหนื่อยมาก เคลื่อนไหวแทบไม่ไหว ตื่นมาได้สักพัก ก็ต้องกลับไปงีบใหม่”
เขายังมีผื่นขึ้นตามร่างกายเป็นระยะ ผิวแห้ง และเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงพร้อมไอหนัก ซึ่งเขาคิดว่าเป็นแค่การติดเชื้อในทรวงอก หลังได้รับยาปฏิชีวนะ อาการดีขึ้นเพียงสามวัน ก่อนจะแย่ลงอีกครั้งอย่างรุนแรง จนแพทย์แนะนำให้เข้ารับการตรวจซีทีสแกนที่โรงพยาบาล และพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินระยะที่ 4
ปัจจุบัน เจย์ได้รับการรักษาจนครบในเดือนกรกฎาคมปีนี้ และกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟู เขาได้ตอบคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียว่า “ตอนนี้ผมแข็งแรงและสุขภาพดีแล้ว” พร้อมขอบคุณทุกคำแสดงความห่วงใยต่อการเดินทางครั้งนี้ของเขา
“ผมดีใจที่หายดีแล้ว และตอนนี้ผมกำลังพยายามอย่างดีที่สุดที่จะรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และแน่นอนว่า ผมอยากจะชักชวนให้คนอื่นๆ ไปตรวจสุขภาพก่อนที่จะสายเกินไป” เจย์กล่าวทิ้งท้าย
เจย์เล่าถึงสัญญาณเตือนที่เขาเคยมองข้ามมาก่อน ไว้ 7 ข้อ สรุปง่ายๆ
- ผลตรวจเลือดพบระดับแคลเซียมสูง ซึ่งอาจบ่งชี้ว่ากระดูกกำลังต่อสู้กับโรค
- น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วและผิวซีดขาวผิดปกติ แต่ตัวเขาเองไม่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้
- ปวดหลังส่วนล่างอย่างรุนแรง จนรู้สึกเหมือนกระดูกกำลังจะหัก
- เหงื่อออกมากตอนกลางคืน จนเสื้อผ้าและที่นอนเปียกชุ่ม
- อ่อนเพลียมาก ต้องนอนพักบ่อยๆ
- มีผื่นขึ้นตามร่างกายและผิวแห้ง
- เจ็บหน้าอกรุนแรงและไอมาก
ทำไมคนหนุ่มสาวป่วยมะเร็งเพิ่มมากขึ้น
แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดมะเร็งในคนหนุ่มสาว แต่งานวิจัยหลายชิ้นในะระยหลังชี้ให้เห็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องพบว่า การกลายพันธุ์ของยีนที่ได้รับถ่ายทอดจากพ่อแม่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ปัจจัยจากการใช้ชีวิตประจำวัน การบริโภคอาหารแปรรูป อาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง และขาดสารอาหาร อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคอ้วน ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งหลายชนิด การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ คนรุ่นใหม่มักอนหลับไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมนในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง รวมถึงความเครียดเรื้อรัง ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป อาจส่งผลต่อการทำลายแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ ซึ่งมีส่วนช่วยในการย่อยอาหารและพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและมลภาวะก็เป็นเรื่องน่าวิตก ปัจจุบันมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมากในแทบทุกหัวเมืองใหญ่ทางเศรษฐกิจ การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดและมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ รวมถึงอาหารที่เรากินทุกวันนี้ มี สารเคมีบางชนิดที่ปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของเครื่องใช้ แม้แต่ไมโครพลาสติก ที่ล่าสุดมีงานวิจัยว่าฝังไปถึงสมองมนุษย์แล้ว
การป้องกันมะเร็งในคนหนุ่มสาว
แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงบางอย่างได้ เช่น พันธุกรรม แต่เราก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพ ดังนี้
รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช และโปรตีน หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารไขมันสูง และน้ำตาลสูง ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อควบคุมน้ำหนักและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน นอนหลับอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเอง ฝึกการจัดการความเครียด ผ่อนคลาย และดูแลสุขภาพใจ เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ทาครีมกันแดด สวมเสื้อผ้าปกปิด และหลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง
การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งมีโอกาสรักษาหายสูง โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติก่อนที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งได้
มะเร็งบางชนิดมีวัคซีนป้องกันแล้ว เช่น วัคซีนป้องกันไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ควรฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยแนะนำให้ฉีดระหว่างอายุ 9 ถึง 12 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พบ “ไมโครพลาสติก” ในสมองมนุษย์ เป็นครั้งแรกของโลก
- มะเร็งคร่าชีวิต CEO บริษัทดัง เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัยเพียง 54 ปี
- หมอเตือน กินลูกปลาช่อน ไม่ช่วยรักษาแผลผ่าคลอด ชี้พยาธิเพียบเสี่ยงมะเร็ง