แจงดราม่า ประกวดมาสคอตมหาสารคาม ตอบทำไม “น้องปูกลอง” ชนะ
ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมหาสารคาม แจงดราม่า ประกวดมาสคอต หลังถูกชาวเน็ตตั้งคำถามถึงผลตัดสิน ตอบทำไมน้องปูกลองชนะ
จากกรณีดราม่าประกวดมาสคอตจังหวัดมหาสารคาม โดยผู้ชนะคือ น้องปูกลอง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ชนะที่ค้านสายตา โดยชี้ว่าเป็นผลงานที่ไม่ทันสมัย และมีการหยิบยกเปรียบเทียบกับ น้องจำปาแป้ง ผลงานที่เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการตัดสินของคณะกรรมการ ตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น
ล่าสุด นายการเอก สำราญชลารักษ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดราม่าดังกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากที่มีกระแสความเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องผลการประกวดออกแบบมาสคอต ประจำจังหวัดมหาสารคามนั้น ขอชี้แจงว่ากระบวนการประกวด จังหวัดมหาสารคามได้ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนสถาบันการศึกษาและบุคคลทั่วไป จากทั่วประเทศส่งผลงานมาสคอตเข้าประกวด แจ้งไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 117 แห่ง มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 80 ผลงาน โดยเป็นผู้ส่งผลงานในจังหวัด 52 ราย ต่างจังหวัด 28 ราย
ประเด็นที่ 2 หลักเกณฑ์เงื่อนไขของการประกวด เน้นในเรื่องของการออกแบบที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของจังหวัดมหาสารคาม มีความเป็นสากล ง่ายต่อการจดจำต่อการเป็นจังหวัดมหาสารคาม มองแล้วรู้ว่าเป็นมหาสารคาม
ประเด็นที่ 3 เกณฑ์การตัดสินผลงาน มี 2 รอบ รอบที่ 1 ให้มีการโหวตมาสคอต ทั้ง 80 ผลงาน ทาง google form ระหว่างวันที่ 12-22 ธ.ค. 2567 รวม 17 วัน ซึ่งมีผู้โหวตทั้งสิ้น 2,141 คน และผลงานที่มียอดโหวตสูงสุดอันดับ 1-5 ผ่านเข้ารอบตัดสิน
สำหรับ 5 ผลงาน เป็นของนักศึกษาจังหวัดมหาสารคาม 2 ราย และอีก 3 ราย เป็นนักศึกษาสถาบันในจังหวัดอื่น ส่วนการตัดสินผลงานรอบที่ 2 จังหวัดมหาสารคาม มีการเชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมต่างๆ มาร่วมโหวต โดยให้เจ้าของผลงานนำเสนอคลิปผลงานหรือนำเสนอด้วยตนเอง
โดยครั้งที่ 1 ในการประชุมคณะกรมการจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งที่ประชุมประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อธิการบดีสถาบันการศึกษา ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชน ประธานกรรมการธรรมภิบาลจังหวัดมหาสารคาม และผู้แทนภาคเอกชนที่สำคัญ ส่วนครั้งที่ 2 ได้มีการโหวตโดยภาคเอกชน อาทิ หอการค้า กลุ่ม YEC สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชมรมกีฬา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง นักเรียน นักศึกษา มาโหวตกันที่วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม
สาเหตุที่จัดสถานที่ดังกล่าว เนื่องจาก 2 ใน 5 ราย เป็นชาวจังหวัดมหาสารคาม กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม หากจัดในสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ก็จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน จึงใช้สถานที่ของสถาบันการศึกษาที่เป็นกลางในการดำเนินการโหวต
ผลงานที่ได้รับการโหวตสูงสุดนั้น ถ้าพิจารณาในภาพรวมทั้ง 5 ผลงานที่เข้ารอบ ทั้งหมดสื่อในเรื่องอัตลักษณ์มหาสารคาม แต่ที่ได้รับการโหวตจากผู้เข้าร่วมโหวตทั้ง 205 คน อาจเนื่องจาก ผู้โหวตเห็นว่า ผลงานดังกล่าว ง่ายต่อการจดจำในฐานะความเป็นจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งปูทูลกระหม่อม เป็น 1 ในเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม ที่ผู้คนรู้จัก และกลองยาวก็เป็น 1 ในงานประเพณีประจำจังหวัดมหาสารคามที่มีชื่อเสียง
สำหรับผลงานที่ชนะเลิศนี้ มีลักษณะคล้ายกับสัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาที่ผ่านมา ขอชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบแล้ว ไม่ได้เป็นการก๊อปปี้ผลงาน แต่ด้วยลักษณะของโครงสร้างที่นำปู มาออกแบบ และใช้สี เป็นสัญลักษณ์ของปูทูลกระหม่อมอยู่แล้ว จึงยืนยันว่า ผลงานที่ชนะการประกวดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ทุกประการ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วาติกันเปิดตัว Luce มาสคอตสุดน่ารัก ฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ Jubilee 2025
- เปิดตัว “น้องจุกหลา” มาสคอตประจำการแข่งขัน คิงส์คัพ 2024 ที่สงขลา
- ทำความรู้จัก “Albart” มาสคอตยูโร 2024 กับเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะเยาวชน