ข่าว

เฉลิมชัย ประกาศ เตรียมเริ่มใช้วัคซีนทำหมัน “ช้างป่า” แก้ปัญหาจำนวนล้นประเทศ

เฉลิมชัน ศรีอ่อน แจง มอบนโยบายแก้ปัญหาช้างป่าล้นประเทศกัลบกรมอุทยานแห่งชาติฯ เริ่มใช้วัคซีนทำหมันในกลุ่มช้างป่าในพื้นที่ภาคตะวันออก มกราคม 2568

วันนี้ (30 ธ.ค.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาช้างป่าว่าตนได้ให้เรื่องนี้เป็นนโยบายกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีหลักการคือช้างอยู่ได้ คนอยู่ได้ ต้องดูแล-ควบคุมประชากรช้างป่า ซึ่งเบื้องต้นมีแนวทางการดำเนินการทั้งหมด 3 ข้อได้แก่

Advertisements
  • นำเอาวัคซีนทำหมันช้างเข้ามาช่วย
  • สร้างกันชนระหว่างคนกับช้าง ซึ่งต้องดูก่อนว่าดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน เพราะใช้งบประมาณจำนวนมาก
  • ผลักดันช้างกลับป่า เช่น การแยกช้างเกเรออกจากโขลง (มีการติดตามเฝ้าระวังช้างกลุ่มนี้)

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณช้างกว่า 4,000 ตัว สามารถคำนวณเป็นอัตราการเกิดได้ราว 7-8% ต่อปี หากเราไม่หยุดยั้งไว้ตั้งแต่ตอนนี้จะทำให้อีก 4 ปีข้างหน้าจะมีช้างมากถึง 6,000 ตัวขณะที่พื้นที่ป่าเท่าหรือน้อยกว่าเดิมและอาจเกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ถึงความเสียหายทางเกษตรและประชาชนได้

ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องหยุดยั้งอัตราเกิดใหม่ของช้างป่าดังกล่าว เพื่อให้ธรรมชาติกับมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยฝั่งกรมอุทยานฯ ได้กำหนดแผนดำเนินการทดลอง-ขยายผลการใช้วัคซีนกับช้างป่าที่จะเริ่มใช้อย่างจริงจังครั้งแรกกับช้างป่าในพื้นที่ภาคตะวันออกช่วงเดือนมกราคม 2568 เรียบร้อยแล้ว หากผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจจะขยายผลไปใช้กับช้างป่ากลุ่มอื่น ๆ ในพื้นที่เป้าหมายนอกจากนี้ต่อไป

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวเสริมว่า การเผยแพร่ข้อมูลวัคซีนข้างต้นอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจคลาดเคลื่อน หรือเกิดความตื่นตระหนกในสังคมได้นั้น ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ายังคงมีอยู่และแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 42 จังหวัดทั่วประเทศที่เกิดความสูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตในคนและช้างป่าเป็นจำนวนมาก

ตั้งแต่ปี 2555 – 2567 มีรายงานประชาชนเสียชีวิตจากช้างป่ามากถึง 240 ราย บาดเจ็บ 208 ราย เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลของประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลจึงไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาแต่อย่างใด โดยกรมอุทยานฯ เร่งดำเนินการแก้ปัญหาช้างป่า 6 ด้านอย่างเป็นระบบและเหมาะสม ซึ่งการฉีดวัคซีนข้างต้นก็เป็น 1 มาตรการดังกล่าวที่ทำควบคู่ไปพร้อมกัน

Advertisements

ส่วนเรื่องรายละเอียดของตัววัคซีนที่กำลังอยู่ในการทดลองใช้ก่อนนำไปใช้จริงนั้น กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาโครงการศึกษาวิจัยการใช้วัคซีนคุมกำเนิดช้างป่า “SpayVac®” ที่มีการใช้งานจริงในช้างแอฟริกามาแล้วและเริ่มโครงการทดลองฉีดวัคซีนคุมกำเนิดในช้างเพศเมียเต็มวัย 7 เชือก ตั้งแต่เดือนเม.ย. 67 พร้อมเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจสุขภาพ และมีการติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน

วัคซีน 1 เข็มจะควบคุมได้ระยะยาว 7 ปี และไม่มีผลต่อพฤติกรรม-สรีระของช้าง จะช่วยแค่เรื่องการควบคุมฮอร์โมนช้างเพศเมียไม่ให้มีลูกเท่านั้น ซึ่งภาพรวมผลการทดลองหลังการฉีดวัคซีนพบวัคซีนมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ช้างไม่มีอาการอักเสบ ไม่ส่งผลกระทบต่อช้างที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือผลเสียต่อพฤติกรรมของตัวช้างเองและทางสังคมช้างป่า จึงมีโครงการนำร่องขยายผลการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่าเพื่อควบคุมประชากรในเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรช้างป่ามาก คือ กลุ่มป่าตะวันออกหรือป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่มีอัตราการเกิดเพิ่มสูงที่สุด-กำลังเผชิญปัญหารุนแรงที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์

วัคซีนควบคุมช้างป่า

ทั้งนี้การควบคุมประชากรช้างป่าโดยใช้วัคซีนคุมกำเนิดจะมีการวางแผนเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมที่ผ่านการศึกษาวิจัยทดสอบ ติดตาม ประเมินผลสัมฤทธิ์ตามหลักทางวิชาการและเทคนิคการสัตวแพทย์รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ เวชภัณฑ์ต่าง ๆ และกำหนดแนวทางการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งการศึกษาจำนวน โครงสร้างชั้นอายุ สัดส่วนเพศของประชากรช้างป่าในพื้นที่อย่างชัดเจนก่อนดำเนินการ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

First jobber Gen z ใหม่แกะกล่องส่งตรงจาก อักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. งานอดิเรกชอบท่องโลกออนไลน์ เล่นกับแมว เที่ยวกับครอบครัว อ่านมังงะ เล่นเกม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button