นั่งตรงไหนของเครื่องบิน โอกาสรอดตายมากที่สุด? ถอดบทเรียนจากโศกนาฏกรรม
บทถอดเรียนจากเหตุสลดการเดินทางบนน่านฟ้า “นั่งตรงไหนของเครื่องบิน มีโอกาสรอดตายมากที่สุด” หลังเกิดเหตุซ้ำสองในรอบสัปดาห์ เครื่องบินอาเซอร์ไบจานแอร์ไลน์ ตกในคาซัคฯ – เครื่องบินเชจูแอร์ไถลตกรันเวย์
จากเหตุการณ์เครื่องบินตกและอุบัติเหตุทางอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งในกรณีเครื่องบินอาเซอร์ไบจานแอร์ไลน์ ตกในเมืองอัคเทา คาซัคสถาน และกรณีเครื่องบินเชจูแอร์ไถลออกนอกรันเวย์ ขณะลงจอดที่สนามบินนานาชาติมูอัน ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยเหตุนี้อาจทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า “หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน นั่งตรงไหนของเครื่องบินถึงจะปลอดภัยที่สุด?”
แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีข่าวคราวเกี่ยวกับเหตุเครื่องบินตก แต่การเดินทางโดยเครื่องบินก็ถือว่าปลอดภัยมาก เมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น ๆ จากฐานข้อมูลของ Aviation Safety Network ในปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่ปลอดภัยที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์การบิน พบว่าจากจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด 35 ล้านเที่ยวบิน มีอุบัติเหตุร้ายแรง 134 ครั้ง, อุบัติเหตุร้ายแรงถึงชีวิต 5 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต 105 คน โดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุ 13 ครั้งต่อปี และมีผู้เสียชีวิตราว 300 คน
ขณะเดียวกัน งานวิจัยอีกหลายชิ้นก็ยืนยันตรงกันว่า เครื่องบินเป็นหนึ่งในรูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด การศึกษาของ Washington Post พบว่า มีผู้เสียชีวิต 7.28 คนต่อพันล้านไมล์ สำหรับการเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ตามมาด้วยเรือเฟอร์รี่ (3.17), รถไฟ (0.43), รถไฟใต้ดิน (0.24), รถบัส (0.11) และเครื่องบินมีเพียง 0.07 คนต่อพันล้านไมล์
สายการบินก็มีผลต่อความปลอดภัยเช่นกัน การศึกษาของ MIT ในปี 2020 พบว่าสายการบินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด อยู่ในสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, จีน, ญี่ปุ่น, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอิสราเอล ดังนั้น หากคุณกังวลเรื่องความปลอดภัยในการบิน การเลือกสายการบินที่ได้รับการจัดอันดับสูงในรายชื่อสายการบินที่ปลอดภัยที่สุดในโลกประจำปีโดย airlineratings.com ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยคลายกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยได้
ในปีนี้ Air New Zealand ครองอันดับหนึ่ง ตามด้วย Qantas, Virgin Australia, Etihad Airways และ Qatar Airways ส่วน 5 สายการบินต้นทุนต่ำที่ปลอดภัยที่สุดในปี 2024 ได้แก่ Jetstar, easyJet, Ryanair, Wizz และ Norwegian
นั่งตรงไหนโอกาสรอดสูงสุด?
จากการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางอากาศในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1971 โดยนิตยสาร Popular Mechanics พบว่า ผู้โดยสารที่นั่งบริเวณท้ายเครื่องมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าที่นั่งด้านหน้าถึง 40% โดยที่นั่งกลางแถวหลังสุดมีอัตราการเสียชีวิตต่ำที่สุด หรือเพียง 28% เท่านั้น
การทดลอง “ตั้งใจชนเครื่องบิน”
การทดลองชนเครื่องบินโบอิ้ง 727 ในทะเลทรายเม็กซิโกเมื่อปี 2012 เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนที่สุด โดยขณะนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย และนักบินชั้นนำ ได้ร่วมกันปล่อยเครื่องบินโบอิ้ง 727 ที่บรรทุกหุ่นทดสอบและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ชนเข้ากับพื้นทะเลทราย เพื่อศึกษาผลกระทบต่อผู้โดยสารในตำแหน่งที่นั่งต่าง ๆ
ผลการทดลองปรากฎว่า ผู้โดยสารที่นั่งด้านหน้า (แถวที่ 1-7 รวมถึงชั้น First Class) มีโอกาสรอดชีวิตน้อยที่สุด แรงกระแทกบริเวณนี้รุนแรงมาก หุ่นทดสอบในตำแหน่งนี้ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียชีวิต ที่นั่ง 7A ถูกพบอยู่ห่างจากซากเครื่องบินถึง 150 เมตร
ผู้โดยสารที่นั่งกลางลำ โดยเฉพาะบริเวณปีก มีแนวโน้มที่จะได้รับบาดเจ็บ เช่น กระดูกหัก แต่มีโอกาสรอดชีวิต ในขณะที่ ผู้โดยสารที่นั่งท้ายเครื่อง มีโอกาสสูงที่สุดที่จะเดินออกมาจากซากเครื่องบินโดยได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
ถึงอย่างนั้น การทดลองครั้งนี้เป็นเพียงการทดลองกับสถานการณ์จำลองการตกแบบหัวทิ่ม หากเครื่องบินตกแบบท้ายกระแทก ผลลัพธ์อาจแตกต่างกัน หรือตรงกันข้ามก็เป็นได้ และที่สำคัญผลการศึกษานี้เป็นเพียงสถิติ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี ขึ้นอยู่กับลักษณะของอุบัติเหตุ
ท่าเตรียมพร้อม (Brace Position) ระหว่างลงจอดฉุกเฉิน ช่วยรอดชีวิตได้จริงหรือ?
ท่า brace position หรือท่าเตรียมพร้อมรับการกระแทก เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยการศึกษาจาก Civil Aerospace Medical Institute พบว่า ผู้โดยสารที่อยู่ในท่านี้มีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่าถึง 40% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เตรียมพร้อม
วิธีจัดท่าทางที่ถูกต้องจะแตกต่างกันตามตำแหน่งที่นั่ง
1. สำหรับที่นั่งที่มีโต๊ะพับด้านหน้า ก้มตัวไปข้างหน้าให้มากที่สุด วางศีรษะแนบกับโต๊ะพับหรือหลังที่นั่งด้านหน้า ประสานมือไว้บนศีรษะ โดยให้ท้องแขนแนบกับด้านข้างศีรษะ กดเข่าชิดกันและวางเท้าราบกับพื้น
2. สำหรับที่นั่งไม่มีโต๊ะพับด้านหน้า โน้มตัวไปข้างหน้าให้หน้าผากแตะหัวเข่า ประสานมือไว้ด้านหลังศีรษะหรือจับข้อเข่าไว้ วางเท้าราบกับพื้นโดยให้ส้นเท้าอยู่ใต้เก้าอี้มากที่สุด
เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ท่านี้ช่วยลดการบาดเจ็บ คือช่วยลดแรงกระแทกที่กระดูกสันหลังและศีรษะ เนื่องจากการโน้มตัวไปข้างหน้าจะกระจายแรงกระแทกไปทั่วร่างกาย ป้องกันอวัยวะภายในจากการกระแทก โดยเฉพาะบริเวณท้องและทรวงอก ลดความเสี่ยงที่ศีรษะจะกระแทกกับที่นั่งด้านหน้าอย่างรุนแรง และช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยลงขณะเกิดแรงกระแทก
ผู้โดยสารควรฝึกท่าเตรียมพร้อมนี้ทุกครั้งที่ขึ้นเครื่องบิน และสังเกตสัญญาณจากลูกเรือ เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินจริง เวลาเตรียมตัวอาจมีจำกัด การฝึกซ้อมจะช่วยให้สามารถทำท่าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วเมื่อจำเป็น
ข้อมูลจาก forbes, quora และ economictimes
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ยอดผู้เสียชีวิต เหตุเครื่องบินเชจูแอร์ เพิ่มเป็น 64 ราย นายกอิ๊งค์ ออกแสดงความเสียใจ
- ด่วน! เครื่องบินเชจู บินจากไทย ไถลตกรันเวย์ ชนรั้ว ตายแล้ว 23 (คลิป)
- ยืนยันแล้ว คนไทย 2 ราย อยู่บนเชจูแอร์ ที่ประสบอุบัติเหตุ ในมูอันเกาหลีใต้