ภาพ: สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 5
จากกรณีที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ตประกาศพื้นที่บริเวณตำบลฉลองเป็นพื้นที่โรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) ระบาดวานนี้ ในวันนี้ (18 ม.ค.) นายจอห์น ดัลลีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย หรือ ซอยด๊อก ได้ออกมาเผยถึงกรณีดังกล่าวและสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายกำลังร่วมมือกันควบคุม โดยภูเก็ตนั้นเคยได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษเรบีส์เพียงพื้นที่เดียวของประเทศ และไม่พบโรคดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
“เมื่อวันที่ 3 ม.ค.เจ้าหน้าที่กู้ภัยสุนัขของเราได้นำสุนัขตัวหนึ่งมาที่มูลนิธิฯ หลังมีคนแจ้งว่าสุนัขมีอาการอาเจียนและไม่สามารถยืนได้เอง” นายจอห์น กล่าว
“สุนัขตัวดังกล่าวเข้ารับการรักษาอยู่หลายวันแต่ไม่มีการตอบสนองใดๆ สุนัขมีอาการเซ และไม่สามารถอ้าปากได้ รวมทั้งยังมีอาการศีรษะเอียงไปด้านข้าง ซึ่งเป็นอาการพื้นฐานของโรคเรบีส์ ทำให้ทีมสัตวแพทย์สันนิษฐานว่าสุนัขน่าจะติดเชื้อดังกล่าว”
“ทางทีมแพทย์จำเป็นต้องทำการการุณยฆาตเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา และส่งตัวสุนัขดังกล่าวไปยังห้องแล็บของสำนักงานปศุสัตว์ฯเพื่อตรวจ และเมื่อวานนี้ ผลก็ออกมาว่าสุนัขตัวดังกล่าวติดเชื้อเรบีส์จริง ซึ่งเป็นกรณีการพบเชื้อในสุนัขในรอบหลายปีของภูเก็ต”
หลังมีการพบการติดเชื้อเรบีส์ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยและสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมสถานการณ์
“ซอยด๊อกทำงานกับปศุสัตว์ฯอย่างใกล้ชิดในการฉีดวัคซีนสุนัขในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบๆ พื้นที่ที่พบสุนัขตัวดังกล่าว โดยทางมูลนิธิฯ จะดูแลในส่วนของสุนัขจรจัดและทางสำนักงานปศุสัตว์ฯจะดูแลในส่วนของสุนัขที่มีเจ้าของ โดยขณะนี้มีทีมทำงานทั้งหมด 5 ทีม (จากสำนักงานปศุสัตว์ 2 ทีมและจากซอยด๊อก 3 ทีม กำลังลงพื้นที่ในบริเวณที่สุนัขถูกพบ)”
นายจอห์นกล่าวว่า ผู้คนไม่ควรตื่นตระหนกกับข่าวนี้แต่ควรตั้งรับและระมัดระวัง รวมถึงคำนึงถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนในกรณีที่ถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผลเปิด
“ไม่จำเป็นที่จะต้องตื่นตระหนกแต่อย่างใด ในพื้นที่กทม.นั้นมีเคสที่พบเชื้อเรบีส์จำนวนมาก แต่ก็ไม่มีเคสที่เกิดขึ้นกับคนมาเป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว ภาพติดตาที่คนมักคิดว่าสุนัขที่ติดเชื้อเรบีส์จะต้องมีน้ำลายฟูมปากและไล่กัดผู้คนนั้นไม่ได้เป็นจริงเสมอไป อย่างเช่นกรณีที่เพิ่งพบมานี้เป็นต้น เมื่อโดนสุนัขกัด ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ก็ตาม จะต้องล้างแผลให้สะอาดทันทีด้วยสบู่และน้ำสะอาด และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน”
นอกจากนี้นายจอห์นยังชี้ให้เห็นถึงต้นตอปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้โรคเรบีส์ระบาดอย่างไม่จบสิ้น นั่นก็คือการนำเข้าลูกสุนัขที่ไม่ผ่านการฉีดวัคซีน
“แม้ว่ากรณีนี้อาจไม่ได้มาจากการนำเข้าลูกสุนัขมาขาย แต่มูลนิธิฯพยายามออกมาเตือนเรื่องอันตรายของการนำเข้าลูกสุนัขที่ไม่ได้รับวัคซีนเข้ามาขาย อย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว โดยได้มีการร้องขอให้ผู้ว่าฯ หลายๆ ท่านที่ผ่านมาออกมาตรการควบคุมเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด เพราะแต่ละปีมีการนำเข้าลูกสุนัขเช่นนี้มาในภูเก็ตนับร้อยๆ ตัว เพื่อมาขายตามตลาดนัดและร้านขายสัตว์เลี้ยง โดยลูกสุนัขที่ส่งเข้ามาเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากฟาร์มเพาะพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดของโรคเรบีส์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีมาตรการขั้นเด็ดขาดใดๆ ออกมาเป็นรูปธรรม และเราหวังว่าท่านผู้ว่าฯ ท่านใหม่จะลงมือจัดการเรื่องนี้”
“ลูกสุนัขจะไม่สามารถรับวัคซีนต้านโรคเรบีส์ได้จนกว่าจะอายุอย่างน้อย 12 สัปดาห์ โดยระหว่างนั้นจะได้รับภูมิคุ้มกันโรคจากนมแม่ในกรณีที่แม่สุนัขมีภูมิต้านทานอยู่แล้วเท่านั้น อย่างกรณีที่เกิดที่ตลาดนัดจตุจักรที่ผู้ขายสุนัขเสียชีวิตจากโรคเรบีส์ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความอันตรายของโรคนี้”
“นอกจากนี้ การย้ายสุนัขที่ได้รับวัคซีนและทำหมันแล้วออกจากพื้นที่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงการแพร่ของโรคเรบีส์ทางหนึ่งเช่นกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์กรเพื่อการรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า (GARC) มีแถลงการณ์ร่วมกันโดยลงความเห็นว่าวิธีที่จำกำจัดโรคเรบีส์ในหมู่คนนั้น ต้องเริ่มจากการกำจัดโรคเรบีส์ในหมู่สุนัข
ซึ่งเป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและได้ประสิทธิภาพมากกว่าวิธีอื่นๆ หากมีการฉีดวัคซีนให้กับสุนัขมากถึง 70% หรือมากกว่านั้น ในประเทศหนึ่งๆ พร้อมทั้งมีการควบคุมการนำเข้าสัตว์อย่างเข้มงวด โรคเรบีส์จะสามารถหมดไปได้ ในทางกลับกัน การเคลื่อนย้ายสุนัขที่ได้รับวัคซีนแล้วไปไว้ในศูนย์พักพิงต่างๆ จะเป็นการลดจำนวนสุนัขปลอดโรคจากท้องถนนและเพิ่มพื้นที่ให้กับสุนัขอื่นๆ ที่อาจยังไม่ได้รับวัคซีนเข้ามาแทนที่”
หากมีผู้พบเห็นสุนัขมีอาการโซเซหรือยืนเองไม่ได้ สามารถติดต่อมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยหมายเลข 076-681-029
- ติดตามเราได้ที่ :