อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

เปิดเส้นทางบุญ พระเขี้ยวแก้ว สู่ท้องสนามหลวง แนะวิธีเดินทางสักการะ

พระเขี้ยวแก้วจากจีนมาไทยแล้ว ประดิษฐานที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เริ่ม 5 ธ.ค. นี้ เช็กวิธีเดินทางไปสักการะได้อย่างไร พร้อมประวัติตำนานพระเขี้ยวแก้วทำไมจึงสำคัญอต่อชาวไทย

เส้นทางเชื่อมสัมพันธ์อันยาวนานระหว่าง ไทย-จีน ที่มิใช่เพียงการค้าหรือการทูต หากแต่ยังผูกพันด้วยสายใยแห่งศรัทธาในพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2567 ที่นับเป็นวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 และครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ รัฐบาลไทยและจีนจึงร่วมมือกันอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สู่ประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา เป็นเวลา 73 วัน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

Advertisements

เส้นทาง “พระเขี้ยวแก้ว” ประดิษฐาน ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ

การเดินทางของพระบรมสารีริกธาตุ เริ่มต้นด้วยพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ วัดหลิงกวง นำโดยคณะสงฆ์ไทย ก่อนอัญเชิญสู่ท่าอากาศยานกรุงปักกิ่ง โดยมีรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศร่วมในพิธีส่งมอบอันศักดิ์สิทธิ์ เครื่องบินพิเศษกองทัพอากาศ นำพาพระบรมสารีริกธาตุ เหินฟ้าสู่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เวลา 12.20 น.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีรับ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ เจ้าหน้าที่ และพุทธศาสนิกชน ที่มาร่วมต้อนรับด้วยความปลื้มปีติ

เวลา 13.19น. พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ได้ถูกอัญเชิญถึงแผ่นดินไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีพระพรหมดิลก กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานสงฆ์ฝ่ายไทย และพระอาจารย์เหยี่ยนเจว๋ ประธานพุทธสมาคมจีน เป็นประธานสงฆ์ฝ่ายจีน ร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์

จากนั้น นายเฉิน รุ่ยเฟิง รัฐมนตรีจีน ได้ส่งมอบพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายไทย โดยมีเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน

ต่อมาในเวลา 14.42 น. ขบวนรถอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เคลื่อนออกจากท่าอากาศยาน มุ่งหน้าสู่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ผ่านเส้นทางสำคัญ เช่น เยาวราช และถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานครฯ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสักการะบูชา

Advertisements

ท้ายที่สุดในเวลา 16.30 น. ริ้วขบวนอัญเชิญ จะเคลื่อนจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ให้ประชาชนได้สักการะบูชา ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568

ประวัติพระเขี้ยวแก้ว
ภาพจาก : วัดตาลเอน สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ ๑๕

วิธีเดินทางไปสักการะ “พระเขี้ยวแก้ว”

เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมสักการะบูชา รัฐบาลไทยได้อำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยจัดเตรียมรถโดยสารประจำทาง ขสมก. และเรือ รับ-ส่ง ประชาชนมายังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 07.00-20.00 น.

รถโดยสารประจำทาง ขสมก.

มีรถเมล์สายพิเศษ ให้บริการรับ-ส่ง ประชาชนจากจุดต่างๆ มายังท้องสนามหลวง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ตรวจสอบเส้นทางเดินรถได้ที่เว็บไซต์ ขสมก.)

รถประจำทางรับส่งชมพระเขี้ยวแก้ว

เส้นทางที่ 1 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ฝั่งเกาะพญาไท) – สนามหลวง (ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า)

  • ให้บริการตั้งแต่เวลา 07.00-20.30 น.
  • คันแรก ออกจากต้นทางเวลา 07.00 น.
  • คันสุดท้าย ออกจากท่าต้นทาง เวลา 19.30 น. ออกจากปลายทาง เวลา 20.30 น.
  • ปล่อยรถโดยสารทุก ๆ 20 นาที

รถเมล์รับส่งพระเขี้ยวแก้ว 2567

เส้นทางที่ 2 วงเวียนใหญ่ – สนามหลวง (ตรงข้ามศาลฎีกา)

  • ให้บริการตั้งแต่เวลา 07.00-20.30 น.
  • คันแรก ออกจากต้นทางเวลา 07.00 น.
  • คันสุดท้าย ออกจากท่าต้นทาง เวลา 19.30 น. ออกจากปลายทาง เวลา 20.30 น.
  • ปล่อยรถโดยสารทุก ๆ 20 นาที

เวลาให้บริการ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 20.30 น. (หรือจนกว่าจะส่งประชาชนออกจากพื้นที่หมด)

เรือสาธารณะ

สามารถเดินทางด้วยเรือโดยสาร มาขึ้นที่ท่าเรือต่าง ๆ ใกล้ท้องสนามหลวง เช่น ท่าช้าง ท่าเตียน

รถยนต์ส่วนตัว

สามารถจอดรถได้ที่ ลานจอดรถบริเวณโดยรอบ เช่น สนามหลวง วัดพระแก้ว (อาจมีค่าบริการ)

เปิดที่มาตำนาน “พระเขี้ยวแก้ว” ศูนย์รวมใจชาวพุทธศรีลังกา

พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ (พระทันตธาตุ) คือหนึ่งในพระบรมสารีริกธาตุที่สำคัญยิ่งของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (พระโคตมพุทธเจ้า) โดยถือเป็นพระเขี้ยวที่ยังคงเป็นองค์รวม ไม่แตกกระจัดกระจายและมีเนื้อแข็งแกร่ง ตามตำนานเชื่อว่ามีพระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ ประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ ทั้งในภพมนุษย์และภพสวรรค์ ดังนี้

พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ประดิษฐานอยู่ ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานในแคว้นกลิงคะ ก่อนที่จะถูกอัญเชิญมายังลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้วในประเทศศรีลังกาปัจจุบัน)

พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย เคยประดิษฐานอยู่ที่แคว้นคันธาระ และเชื่อกันว่าถูกอัญเชิญไปเมืองฉางอัน (ซีอาน) ประเทศจีน โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อครั้งจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ประดิษฐานอยู่ ณ พระมหาเจดีย์ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง

แบบจำลองพระเขี้ยวแก้ว
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค

จากตำนานดังกล่าว พบว่ามีพระเขี้ยวแก้ว 2 องค์ที่ประดิษฐานอยู่ในภพมนุษย์ โดยหนึ่งในนั้นคือ พระเขี้ยวแก้วแห่งเมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ซึ่งมีตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งแคว้นกาลิงคะเกิดศึกสงคราม

เจ้าหญิงเหมมาลาและเจ้าชายทันตกุมารได้ปลอมพระองค์เป็นพราหมณ์ และนำพระเขี้ยวแก้วหลบหนีมายังเกาะลังกา ซึ่งหลังจากนั้นพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ไม่เคยออกนอกพื้นที่ศรีลังกาอีกเลย

แม้ศรีลังกาจะเผชิญสงครามหรือถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคม แต่ความเชื่อในพระพุทธศาสนายังคงหยั่งรากลึกในจิตใจของชาวศรีลังกา ปัจจุบันศรีลังกามีประชากรกว่า 75% ที่ยังคงนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น

ซึ่งพระเขี้ยวแก้วแห่งเมืองแคนดีนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์และศูนย์รวมใจของชาวพุทธศรีลังกา เช่นเดียวกับ หน่อพระศรีมหาโพธิ์ ที่ถูกนำมาปลูกไว้ตั้งแต่เมื่อกว่า 2,300 ปีก่อน แสดงถึงความเชื่อที่ลึกซึ้งและความศรัทธาอันยั่งยืนในพระพุทธศาสนา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลและภาพจาก : วัดตาลเอน สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แห่งที่ ๑๕, ร้อยเรื่องเมืองล้านนา, วิกิพีเดีย

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button