ผลสำรวจ ชี้ 4 อันดับ สถานที่ที่คนไทยใช้เงินช่วยเหลือ 10,000 บาทมากที่สุดคือ ที่ร้านค้าในชุมชน 96.3% ส่วนอันดับสุดท้ายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต พบ พอใจโครงการนี้ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถึง ร้อยละ 87.7
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จิรายุ ห่วงทรัพย์ เปิดเผยจำนวนตัวเลขจากผลสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติที่ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 4 – 22 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ โครงการช่วยเหลือเงิน 10,000 บาท ที่รัฐบาลจัดให้ โดยมีการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 31,500 ราย ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้ข้อมูล 4 อันดับ สถานที่ที่คนไทยมักใช้เงินช่วยเหลือ 1 หมื่นบาทมากที่สุด ดังนี้
4 อันดับสถานที่ที่คนไทยใช้เงินช่วยเหลือมากที่สุด
จากผลสำรวจสถานที่ที่ประชาชนนำเงินไปใช้จ่าย พบว่า 1) ร้อยละ 96.3 นำเงินไปใช้จ่ายที่ร้านค้าในชุมชนหรือร้านขายของชำในสัดส่วนที่สูงที่สุด 2) รองลงมาคือหาบเร่หรือแผงลอยทั่วไปและในตลาด (ร้อยละ 70.9) 3) ร้านสะดวกซื้อหรือมินิมาร์ท เช่น 7-Eleven และ Mini Big C (ร้อยละ 54.1) และ 4) ดิสเคาท์สโตร์หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Big C, Tesco Lotus และ Tops (ร้อยละ 18.4)
สำหรับระยะเวลาที่ประชาชนใช้เงิน 10,000 บาท พบว่า ร้อยละ 21.1 ใช้เงินหมดภายในเวลาน้อยกว่า 1 เดือน ขณะที่ร้อยละ 60.5 ใช้เงินภายใน 1-3 เดือน ร้อยละ 13.7 ใช้เงิน 4-6 เดือน และร้อยละ 4.7 ใช้เงินนานกว่า 6 เดือน
การสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้จ่ายและความพึงพอใจของประชาชนต่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนามาตรการช่วยเหลือประชาชนในอนาคต
คนไทยพอใจโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สูงถึง 87.7%
จากผลสำรวจพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ในระดับมากถึงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 87.7
โดยร้อยละ 47.8 พึงพอใจในระดับมาก และร้อยละ 39.9 พึงพอใจในระดับมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 11.2 พึงพอใจในระดับปานกลาง ร้อยละ 0.9 พึงพอใจในระดับน้อย และร้อยละ 0.2 พึงพอใจในระดับน้อยที่สุด
คนไทยใช้เงินช่วยเหลืออย่างไรบ้าง?
สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 พบว่า ร้อยละ 75.8 นำเงินไปใช้จ่ายทั่วไป ขณะที่ร้อยละ 12.8 นำไปชำระหนี้สิน และร้อยละ 11.4 เก็บออมไว้
ในส่วนของการใช้จ่าย ร้อยละ 95.1 นำเงินไปซื้ออาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวสารและหมูสด ในสัดส่วนที่สูงที่สุด รองลงมาคือการซื้อของใช้ในครัวเรือน เช่น ผงซักฟอกและสบู่ (ร้อยละ 89.1)
ชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา (ร้อยละ 57.2) ชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันและแก๊ส (ร้อยละ 26.7) และให้คนในครอบครัวหรือญาติไว้ใช้จ่าย (ร้อยละ 26.3)
ข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย