เปิดศึก เขากระโดง กรมที่ดินโบ้ยไร้อำนาจ รฟท.ไม่ยอมแพ้ สู้คดีถึงที่สุด
รฟท. ชวด! ที่ดินเขากระโดงยังไม่หลุดมือเอกชน กรมที่ดินยันไร้อำนาจพลิกมติ คกก.สอบสวน การรถไฟแห่งประเทศไทย ลั่นสู้ต่อในชั้นศาล
เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567กรมที่ดินได้ออกมาชี้แจงกรณี ที่ดินทับซ้อนเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างกรมที่ดินและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยยืนยันว่า กรมที่ดินไม่มีอำนาจในการแทรกแซงมติของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นตาม มาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจาก รฟท. ไม่สามารถนำหลักฐานมายืนยันสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ได้อย่างชัดเจน
ทำไมกรมที่ดินถึงไม่มีอำนาจแทรกแซง?
ตามกฎหมาย กรมที่ดินมีหน้าที่เพียงสนับสนุนข้อมูลและพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้แก่คณะกรรมการสอบสวนฯ เท่านั้น เปรียบเสมือนกรมที่ดินเป็น “ฝ่ายสนับสนุน” ที่คอยจัดหาอุปกรณ์และข้อมูลให้ แต่ไม่มีสิทธิ์ “ลงไปเล่นในสนาม” หรือชี้นำการตัดสินใจของคณะกรรมการฯ
รฟท. จะทำอย่างไรต่อไป
แม้ คกก.สอบสวนฯ จะมีมติไม่เพิกถอนโฉนด แต่ รฟท. ยังคงมีสิทธิ์ที่จะพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินผืนนี้ต่อไป โดยสามารถดำเนินการฟ้องร้องผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาล ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาพยานหลักฐานและตัดสินว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของใคร
รายละเอียดประกาศจากกรมที่ดินฉบับเต็ม
“ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กำหนดว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงใดเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีกรมที่ดินหรือรองอธิบดีผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้ แต่ก่อนที่จะมีคำสั่งแก้ไขหรือเพิกถอน ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาคณะหนึ่ง
เพื่อดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเสียก่อน อย่างน้อยจะต้องมีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่เป็นกรรมการ และตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอน หรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียน โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งในจังหวัดอื่นนอกจาก กรุงเทพมหานคร
ประกอบด้วยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือข้าราชการสังกัดกรมที่ดินที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย เห็นสมควร เป็นประธานกรรมการ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการ และให้อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย แต่งตั้งข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไป หรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปในสำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวน มีดังนี้
1. ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานให้ได้ความว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
2. มีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา กรณีไม่อาจเรียกเอกสารให้บันทึกเหตุผลไว้ กรณีได้รับเอกสารให้ออกใบรับ (ท.ด.53) ไว้เป็นหลักฐาน
3. แจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้านการเพิกถอนหรือแก้ไข
4. รายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในกำหนดระยะเวลา
5. ขอขยายระยะเวลาการสอบสวน กรณีคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา โดยจะสั่งให้ขยายระยะเวลาการสอบสวนได้ตามความจำเป็น
6. ขอเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนฯ กรณีมีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสวน
ขั้นตอนและวิธีการสอบสวน
1. ประชุมคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตลอดจนเอกสารหลักฐาน กำหนดประเด็น และแนวทางในการสอบสวนพร้อมจัดทำรายงานการประชุม
2. ดำเนินการสอบสวนโดยรวบรวมพยานเอกสารและสอบสวนพยานบุคคล
3. แจ้งผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้โอกาสคัดค้าน โดยบันทึกให้ชัดเจน ว่าผู้มีส่วนได้เสียยินยอมให้เพิกถอน หรือคัดค้านการเพิกถอนหรือแก้ไขหรือไม่ หากคัดค้าน ให้ระบุเหตุผลการคัดค้านพร้อมแสดงพยานหลักฐาน และพิจารณาหลักฐานการคัดค้าน
การจัดทำรายงานการสอบสวน
คณะกรรมการสอบสวนฯ ต้องรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเอกสารหลักฐานทางกฎหมายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เสร็จแล้วสรุปข้อเท็จจริงและเหตุที่มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งมีหน้าที่เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายฯ ว่าสมควรสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายเห็นสมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมตามนัยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฯ พ.ศ. 2553
เงื่อนไขการพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไข
อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย จะพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้ต่อเมื่อปรากฎชัดแจ้งว่าได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ
ว่าการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย พิจารณายุติเรื่องตามข้อ 12 แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฯ พ.ศ. 2553
ดังนั้น คณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งที่ 1195 – 1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม2566 จึงเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กรมที่ดินไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ กรมที่ดินเป็นเพียงผู้สนับสนุนข้อมูล เอกสาร พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้แก่คณะกรรมการสอบสวนฯ เมื่อได้รับการร้องขอ”
อ่านข่าวอื่น ๆ
- ประวัติ พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ท่ามกลางพายุ เขากระโดง
- ชูวิทย์ แฉเดือด ที่ดินเขากระโดง สนามบอลช้างอารีนา-สนามแข่งรถ ต้องรื้อหมด